“รากผม” ส่วนประกอบของเส้นผมที่อยู่ลึกลงไปในหนังศีรษะ คนเรามักไม่ให้ความสำคัญรากผมมากเท่าเส้นผมภายนอก เพราะผมภายนอกเป็นส่วนที่มองเห็นได้ และดูแลรักษาง่ายกว่า แต่ในความเป็นจริงแล้ว สุขภาพเส้นผมโดยรวมขึ้นอยู่กับรากผมทั้งสิ้น
ในบทความนี้ Absolute Hair Clinic จะให้คำแนะนำเครื่องความสำคัญของรากผม โรคที่อาจเกิดขึ้นได้รับรากผม และวิธีดูแลรักษารากผมให้สุขภาพดี เพื่อให้สภาพผมโดยรวมดีกว่าที่เคย
ทำความรู้จัก ‘รากผม’ คืออะไร
รากผม (Hair root) คือส่วนต้นของเส้นผมที่ฝั่งอยู่ในรูขุมขนภายใต้ชั้นผิวหนัง ตั้งแต่ชั้นหนังกำพร้า (Epidermis) จนถึงชั้นหนังแท้ (Dermis) บางครั้งอาจอยู่ลึกถึงเนื้อเยื่อใต้หนัง (Subcutaneous tissue) รากผมเป็นส่วนที่ทำหน้าที่สร้างเส้นผม ดังนั้นการมีรากผมที่แข็งแรง จึงหมายถึงการมีเส้นผมที่เส้นใหญ่ ดกหนา และสุขภาพดีนั่นเอง
ส่วนประกอบของรากผม
รากผม ประกอบด้วยต่อมรากผม (Hair Follicle) เป็นเนื้อเยื่อทรงกระบอก หุ้มรากผมอยู่ในชั้นผิวหนัง เชื่อมต่อกับเนื้อเยื่อเกี่ยวพันส่วนอื่นๆ และต่อมไขมัน (Sebaceous Gland) ที่เป็นส่วนหนึ่งของรูขุมขน
นอกจากนี้ ต่อมรากผมยังเชื่อมติดอยู่กับกล้ามเนื้อขนาดเล็กที่เรียกว่า Arrector pili กล้านเนื้อนี้ทำให้ขนตั้งขึ้นได้ เป็นอาการที่เราเรียกว่าขนลุกนั่นเอง
ด้านล่างสุดของรากผมภายในต่อมรากผมจะมีลักษณะพองกลม เรียกว่ากระเปาะผม (Hair bulb) ในกระเปาะผมนี้เอง เป็นที่ที่เซลล์ผมถูกสร้างขึ้น โดยเซลล์ดังกล่าวจะเป็นโปรตีนที่ถูกสร้างต่อกันเป็นสายยาวเรียกว่าเคราติน (Keratin) เกิดเป็นเส้นผมที่งอกออกมาเรื่อยๆ จนผ่านชั้นผิวหนังออกมา เป็นเส้นผมที่เราสามารถมองเห็นได้จากภายนอก
ด้านล่างสุดของกระเปาะผม เรียกว่าปุ่มผม (Hair Dermal Papilla) เป็นส่วนที่มีเส้นเลือดฝอยอยู่ภายใน ปุ่มผมจะเป็นที่ลำเลียงสารจากเลือดเข้ามายังรากผม ทำให้มีสารอาหารหล่อเลี้ยงเซลล์รากผม และมีวัตถุดิบเพียงพอต่อการสร้างผมของกระเปาะผม
นอกจากเส้นเลือดแล้ว ที่รากผมยังมีเส้นประสาทด้าย เมื่อเส้นผมถูกรบกวน โดยการดึง การถอนผม หรือแม้กระทั่งการสัมผัสเบาๆ เส้นประสาททำให้เราสามารถรับรู้การเคลื่อนไหวของเส้นผมได้นั่นเอง
รากผม มีความสำคัญอย่างไร
รากผมเป็นส่วนที่มีความสำคัญอย่างมากกับการงอกผม เพราะเป็นส่วนที่สร้างเส้นผมโดยตรง หากรากผมไม่แข็งแรง เส้นผมที่สร้างก็จะเส้นเล็ก บาง ขาดร่วงได้ง่าย รากผมไม่แข็งแรง อ่อนแอลงเรื่อยๆ
เมื่อรากผมอ่อนแอมาก เส้นเลือดมาเลี้ยงที่ปุ่มผมน้อยลง รากผมจะค่อยๆฝ่อและไม่สร้างผมอีกเลย ทำให้ผมร่วง ผมบาง ศีรษะล้านอย่างถาวร จำเป็นต้องแก้ไขด้วยการปลูกผม เพื่อทำให้บริเวณที่รากผมฝ่อมีรากผมใหม่เท่านั้น ไม่สามารถฟื้นฟูรากผมเดิมขึ้นมากได้
วงจรชีวิตเส้นผม
เส้นผมเองก็มีวงจรชีวิตเช่นกัน เส้นผมจะไม่ได้อยู่บนศีรษะตลอดไป แต่จะงอกอยู่บนศีรษะเป็นเวลาประมาณ 2 – 6 ปี ก่อนจะร่วงไป หลังจากนั้นรากผมจะพักการสร้างผมไประยะหนึ่ง แล้วจึงกลับมาสร้างเส้นผมชุดใหม่
เส้นผมของคนเรามีประมาณ 100,000 เส้น (50,000 กอ) ทั่วศีรษะ รากผมแต่ละรากจะมีวงจรชีวิตวนเวียนไปเช่นนี้ประมาณ 20 รอบตลอดชีวิต หรือจนกว่ารากผมจะฝ่อไปด้วยสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่การฝ่อตามอายุไข
วงจรชีวิตของเส้นผม มี 4 ระยะ ดังนี้
- ระยะเจริญเติบโต (Anagen Phase)
ระยะเจริญเติบโต คือระยะที่กระเปาะผมจะอยู่ลึกที่สุด และสร้างเซลล์ผมใหม่ออกมาเรื่อยๆ ทำให้เส้นผมงอกยาวขึ้นบนศีรษะ เส้นผมส่วนใหญ่ประมาณ 85 – 90% อยู่ในระยะนี้ เส้นผมจะเติบโตบนหนังศีรษะอยู่ประมาณ 2 – 6 ปี หรือประมาณ 1000 วัน ก่อนที่จะเข้าระยะถัดไป
เส้นผมของคนเราจะงอกขึ้นเดือนละประมาณ 1 เซนติเมตร ดังนั้นก่อนจะสิ้นสุดระยะเจริญ เส้นผมสามารถยาวได้ประมาณ 30 – 100 เซนติเมตรก่อนที่จะร่วงออก แต่ละคนจะมีระยะเวลาในระยะเจริญแตกต่างกันตามพันธุกรรม อายุ ฮอร์โมน โรค และอื่นๆ
- ระยะหยุดเจริญเติบโต (Catagen Phase)
เป็นระยะที่กระเปาะผมจะหยุดสร้างผม รากผมจะค่อยๆเคลื่อนตัวขึ้น และแยกตัวออกจากเส้นเลือดที่มาเลี้ยงรากผม ทำให้เส้นผมขาดสารอาหาร เตรียมพร้อมสำหรับหลุดร่วง ระยะนี้พบได้เพียง 1% ของเส้นผมทั้งหมดบนศีรษะ และเส้นผมจะอยู่ระยะนี้เพียง 2 – 3 สัปดาห์ก่อนจะเข้าสู่ระยะถัดไป
- ระยะพัก (Telogen Phase)
เป็นระยะที่รากผมจะหยุดสร้างผม เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการสร้างเส้นผมชุดถัดไป รากผมที่ถูกดันขึ้นจนสุดจะค่อยๆลดต่ำลงมาอยู่ระดับเดิม เส้นผมทั้งศีรษะจะอยู่ที่ระยะนี้ประมาณ 10 – 15% ใช้เวลาพักประมาณ 1 – 4 เดือน หลังจากนั้นรากผมจะกลับมาพร้อมสร้างเส้นผมชุดใหม่
- Exogen Phase
Exogen Phase จะไม่เชิงเป็นระยะ เพราะอยู่ในช่วงต้นของ Anagen Phase หรือระยะเจริญเติบโต เมื่อรากผมพร้อมที่จะสร้างเส้นผมแล้ว รากผมจะเข้าสู่ระยะเจริญเติบโตและสร้างเส้นผมออกมา เส้นผมชุดใหม่นี้จะค่อยๆดันเส้นผมชุดเก่าที่ยังอยู่ในรูขุมขนให้หลุดออก โดยจะเรียกช่วงนี้ว่า Exogen Phase นั่นเอง
โรคผมร่วงจากกรรมพันธุ์
โรคผมร่วงหรือหัวล้านจากกรรมพันธุ์ (Androgenetic Alopecia) เป็นโรคที่ทำให้ผมร่วงทั้งศีรษะ เกิดจากเหตุผลทางพันธุกรรม ในช่วงแรกที่โรคแสดงอาการ จะทำให้ผมที่รากผมสร้างขึ้นเส้นเล็กลง ร่วงง่าย ระยะเจริญเติบโตในวงจรชีวิตเส้นผมสั้นลง มีระยะพักที่นานขึ้น เมื่อเวลาผ่านไปจะทำให้รากผมอ่อนแอลงเรื่อยๆ เมื่อรากผมฝ่อ รากผมนั้นจะไม่สามารถสร้างเส้นผมได้อีก
โรคผมร่วงจากกรรมพันธุ์ในผู้ชายและผู้หญิงเกิดจากยีนคนละตัวกัน
ในผู้ชายจะเกิดจากยีนที่มีผลกับรากผม ทำให้ตอบสนองกับฮอร์โมน DHT มากขึ้น ซึ่งฮอร์โมน DHT หรือ Dihydrotestosterone เป็นฮอร์โมนที่สร้างขึ้นมาจากฮอร์โมนเพศชายอย่างเทสโทสเตอโรน (Testosterone) มีหน้าที่ทำให้ร่างกายแสดงออกถึงลักษณะเพศชาย
แต่ถ้าฮอร์โมน DHT ออกฤทธิ์ที่รากผม จะทำให้รากผมสร้างผมเส้นเล็กลง อ่อนแอ ร่วงง่าย มีระยะพักนาน ระยะเจริญสั้นจนรากผมฝ่อในที่สุด
หากเป็นโรคผมร่วงจากกรรมพันธุ์ด้วยแล้ว รากผมจะยิ่งไวต่อฮอร์โมน DHT มากขึ้น ทำให้ผมร่วงได้มากขึ้น รากผมอ่อนแอลงเร็วกว่าเดิม ท้ายที่สุดแล้วรากผมจะฝ่อเร็วขึ้น หากปล่อยไว้จนอาการของโรคขยายออกเป็นบริเวณกว้างจะทำให้หัวล้านในที่สุด
ส่วนโรคผมร่วงจากกรรมพันธุ์ในผู้หญิง เกิดจากพันธุกรรมที่ทำให้วงจรชีวิตเส้นผมมีระยะเจริญสั้น และระยะพักนานกว่าปกติ บนศีรษะจึงมีเส้นผมในระยะเจริญน้อยกว่าคนทั่วไป จนเกิดผมบางและศีรษะล้านได้ หากไม่รีบรักษา ผู้หญิงที่เป็นโรคผมร่วงจากกรรมพันธุ์ก็สามารถศีรษะล้านได้เหมือนกับผู้ชายเช่นกัน
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับอาการหัวล้านในผู้หญิง : 10 สาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงหัวล้าน ! แนะนำวิธีรักษาหัวล้านในผู้หญิง
โรคผมร่วงเป็นหย่อม
โรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia Areata) เป็นโรคที่ทำให้ผมร่วงเป็นวงขนาดประมาณเหรียญสิบบาท จะร่วงวงเดียว หรือหลายวงทั่วศีรษะก็ได้ โดยที่หนังศีรษะบริเวณที่ผมร่วงจะไม่มีรอยโรคใดๆเลย ไม่มีรอยแดง ไม่มีขุยหนังศีรษะ อาจมีอาการคันร่วมด้วยเล็กน้อย หรือไม่มีเลยก็ได้
ลักษณะของเส้นผมรอบๆวงผิวหนังที่ผมร่วงออกไป จะเป็นเส้นผมรูปเครื่องหมายอัศเจรีย์ (!) คือปลายผมหนากว่าส่วนที่เพิ่งงอก
เกิดจากการที่อาการของโรคค่อยๆขยายวงออกไป รากผมเพิ่งจะถูกรบกวนจนสร้างเส้นผมผิดปกติ ทำให้ผมที่ขึ้นมาในภายหลังมีขนาดเล็กและบางกว่าผมที่ขึ้นในช่วงแรง ในท้ายที่สุดผมส่วนนี้ก็จะร่วงออกไป บางกรณีอาจพบขนร่วงเป็นหย่อมในส่วนอื่นๆของร่างกายร่วมด้วย
โรคผมร่วงเป็นหย่อมในลักษณะนี้ไม่ใช่โรคติดต่อ แต่สามารถสืบทอดทางพันธุกรรมได้ โดยพบว่า 1 ใน 5 ของผู้ป่วยโรคนี้ มีคนในครอบครัวที่เคยเป็นโรคเดียวกันมาก่อน
สาเหตุการเกิดโรคที่แท้จริงของโรคผมร่วงเป็นหย่อม ยังไม่สามารถยืนยันได้ในปัจจุบัน แต่แพทย์คาดว่าเกิดจากรากผมอักเสบ หรือเนื้อเยื่อบริเวณรากผมอักเสบ ทำให้รากผมถูกรบกวนจนทำงานผิดปกติไปในระยะเวลาหนึ่ง เมื่อการอักเสบหายไป รากผมจึงกลับมาทำงานตามปกติดังเดิม
ส่วนสาเหตุของอาการอักเสบ เกิดจากปัจจัยหลายๆอย่าง โดยเฉพาะโรคที่ทำให้เกิดภาวะภูมิต้านทานเนื้อเยื่อตัวเอง โรคเหล่านี้ทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานผิดปกติ โดยภูมิต้านทานจะเข้าใจว่าเนื้อเยื่อต่างๆในร่างกายเป็นสิ่งแปลปลอม จึงโจมตีเนื้อเยื่อ และทำให้เกิดการอักเสบในเนื้อเยื่อนั้น
ถ้าเนื้อเยื่อบริเวณรากผมถูกโจมตีโดยระบบภูมิต้านทาน อาจทำให้รากผมอักเสบจนเกิดผมร่วงเป็นหย่อมได้
สาเหตุของการอักเสบอื่นๆ ได้แก่ ความเครียดที่อาจส่งผลให้ภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ การส่งต่อโรคทางพันธุกรรม โรคภูมิแพ้บริเวณผิวหนังที่เกิดบริเวณหนังศีรษะ หรือการติดเชื้อไวรัสบางชนิด
ทั้งนี้ โรคผมร่วงเป็นหย่อมไม่ใช่โรคอันตรายอะไร สามารถหายไปเองได้ หลังจากนั้น 6 – 12 เดือนผมก็จะขึ้นมาเป็นปกติดังเดิม แต่ในบางกรณีที่สามารถพบได้น้อย อาการอาจหนักขึ้น พื้นที่วงผมร่วงจะขยายออกไปเรื่อยๆ จนทำให้เป็นโรคผมร่วงทั่วตัว (Alopecia Universalis) ได้ ดังนั้นหากป่วยเป็นโรคดังกล่าว ให้เข้าพบแพทย์จะดีที่สุด
โรคผมร่วงแบบฉับพลัน
โรคผมร่วงฉับพลัน (Telogen Effluvium หรือ TE) เป็นอาการที่รากผมที่อยู่ในระยะเจริญ หยุดเจริญ และเข้าสู่ระยะพักในเวลาไล่เลี่ยกัน เมื่อครบเวลาของระยะพัก เส้นผมเหล่านี้จะหลุดออกพร้อมๆกัน ทำให้ผมร่วงอย่างฉับพลัน
ปกติแล้วรากผมที่อยู่ในระยะพักจะมีประมาณ 10 – 15% จากผมทั้งศีรษะ แต่ถ้าเกิดผมร่วงฉับพลัน รากผมที่อยู่ในระยะพักอาจมีมากถึง 20 – 50% เมื่อเส้นผมส่วนนั้นร่วงออกไปจะทำให้ผมดูบางลงมากนั่นเอง
โรคผมร่วงฉับพลันเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่จะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงในร่างกายอย่างฉับพลัน ทำให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะวิกฤติในช่วงเวลาหนึ่ง จากนั้นร่างกายจะหยุดการเจริญเติบโตของเส้นผม เพื่อตัดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็นในร่างกายออกไป เส้นผมจึงถูกบังคับให้เข้าสู่ระยะพักในเวลาเดียวกัน
การเปลี่ยนแปลงในร่างกายอย่างฉับพลันสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายหรือจิตใจ
การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอาจเกิดจากโรคเรื้อรังหรือความผิดปกติต่างๆ โรคเรื้อรังที่ทำให้ผมร่วงฉับพลัน ส่วนใหญ่จะเป็นโรคที่ส่งผลกระทบรุนแรงกับระบบไหลเวียนเลือด ระบบประสาท ฮอร์โมน และระบบภูมิคุ้มกัน อย่างโรคมะเร็ง โรคแพ้ภูมิตนเอง หรือโรคไทรอยด์ เป็นต้น
ส่วนความผิดปกติที่ทำให้ผมร่วงฉับพลัน จะเป็นความผิดปกติที่ทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะวิกฤติ อย่างการป่วยเป็นโรคที่ทำให้มีไข้สูง อาการเสียเลือดมาก ขาดสารอาหารรุนแรง ฮอร์โมนเปลี่ยนอย่างฉับพลัน
การเปลี่ยนแปลงทางจิตใจก็ทำให้ผมร่วงฉับพลันได้เช่นกัน หากเกิดภาวะช็อก เครียด หรือผิดหวังอย่างรุนแรง (Severe Emotional Distress)
หลังจากร่างกายผ่านภาวะวิกฤติมาแล้ว ผมไม่ได้ร่วงทันที แต่ผมจะเข้าสู่ระยะพัก เมื่อพ้นระยะพักผมจึงจะร่วงออก โดยเฉลี่ยแล้วระยะพักมีเวลาประมาณ 3 เดือน ดังนั้นผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงเริ่มผมร่วงประมาณ 3 เดือนหลังจากเกิดภาวะวิกฤติขึ้นนั่นเอง
โรคผมร่วงฉับพลันไม่ใช่โรคอันตราย หากอาการที่เป็นต้นเหตุของโรคหายไปแล้ว รากผมจะเข้าสู่ภาวะปกติ เมื่อผมร่วงไป อีกประมาณ 6 – 12 เดือนหลังจากนั้น ผมก็จะเริ่มงอกขึ้นมาตามปกติ แต่หากผมไม่งอก ผมบางกว่าเดิมจนเสียความมั่นใจ ควรพบแพทย์ด้านเส้นผมและหนังศีรษะเพื่อขอคำปรึกษา และหาต้นเหตุของอาการผมบางต่อไป
โรครูขุมขนบนศีรษะอักเสบ
โรครูขุมขนบนศีรษะอักเสบ (Scalp Folliculitis) เป็นโรคที่ทำให้เกิดการอักเสบบริเวณรูขุมขน ที่อาจเกิดลึกถึงรากผม อาการของโรคจะเป็นตุ่มแดงเม็ดเล็กๆ จากรากผมอักเสบ หรือรากผมมีเม็ดไขมัน กระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณที่มีผมและขน ตุ่มสีแดงนั้นบางครั้งก็กลายเป็นตุ่มหนองลักษณะคล้ายสิว แต่จะแตกต่างจากสิวที่ตุ่มหนองจากรูขุมขนอักเสบจะมีเส้นขนงอกอยู่ตรงกลาง
โรครูขุมขนอักเสบเกิดจากการอุดตันของเส้นขน หรือการติดเชื้อบริเวณรูขุมขนและรากผม อาจเป็นเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราก็ได้ ซึ่งพฤติกรรมที่ทำให้รูขุมขนอุดตันหรือติดเชื้อมีหลายอย่าง เช่น การโกนผม เกาหนังศีรษะมากเกินไป ดึงผม มัดผมตึงเกินไป ใส่หมวกบ่อย หรือใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผมที่ทำให้รูขุมขนอุดตัน
โรครูขุมขนอักเสบไม่ใช่โรคอันตราย แต่หากปล่อยไว้จะเสี่ยงทำให้การอักเสบลุกลามจนรากผมอักเสบมาก ถ้าไม่รีบรักษา โรคจะทิ้งรอยแผลเป็นไว้หลังการอักเสบหายไป ทำให้รากผมในบริเวณนั้นถูกทำลายอย่างถาวร จนผมไม่สามารถงอกขึ้นมาได้อีก ดังนั้นหากรู้ตัวว่าเป็นโรครูขุมขนอักเสบ ควรพบแพทย์เพื่อรักษาก่อนอาการจะลุกลาม
วิธีการรักษารากผมให้แข็งแรง ต้องเริ่มจากการทานอาหารบำรุงผม รากผมต้องใช้สารอาหารต่างๆในการสร้างเส้นผม หากร่างกายได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์อย่างเพียงพอ ทั้งระบบเลือดที่ช่วยลำเลียงสารอาหาร และการสร้างผมของรากผม ก็จะสามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ
สารอาหารที่จำเป็นต่อการสร้างผมได้แก่ โปรตีน ไบโอติน สังกะสี และวิตามินบี นอกจากนี้ยังควรได้รับสารอาหารอื่นๆที่ช่วยในการสร้างผมอีก เช่น ธาตุเหล็กช่วยบำรุงเลือด, กรดไขมัน ที่เป็นส่วนประกอบในการสร้างไขมันโดยต่อมไขมัน ช่วยเก็บกักความชุ่มชื้นให้เส้นผม, และวิตามินต้านอนุมูลอิสระอย่างวิตามินเอ ซี และอี เพื่อช่วยป้องกันรากผมถูกทำลายโดยอนุมูลอิสระ
รักษาความสะอาดของเส้นผมและหนังศีรษะ
หากหนังศีรษะสะอาด จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะทำให้รากผมอักเสบได้ โดยการสระผมอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 – 4 ครั้ง ไม่ควรสระผมด้วยน้ำที่ร้อนหรือเย็นเกินไป และไม่ควรเกาหนังศีรษะขณะสระผม ทางที่ดีควรใช้ปลายนิ้วนวดหนังศีรษะไปด้วยขณะสระผม ช่วยกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ทำให้รากผมแข็งแรงขึ้นในทางอ้อม
ผ่อนคลายความเครียด
ความเครียดเป็นสาเหตุของโรคเกี่ยวกับรากผมหลายอย่าง รวมถึงโรคทางร่างกายและจิตใจอื่นๆด้วย ดังนั้นหากทำให้จิตใจผ่อนคลาย และลดความเครียดได้ จะมีผลดีกับรากผม และสุขภาพร่างกายโดยรวมอย่างมาก
เปลี่ยนพฤติกรรมทำร้ายรากผม
การเกาศีรษะแรงๆ ถอนผม มัดผมตึงเกินไป และใช้สารเคมีกับเส้นผมและหนังศีรษะ เป็นพฤติกรรมที่ทำร้ายรากผมอย่างมาก เพราะทำให้รากผมอุดตันและเสี่ยงติดเชื้อที่รากผมได้ หากรากผมอักเสบจนเกิดแผลเป็น จะทำให้รากผมถูกทำลายจนรากผมฝ่ออย่างถาวร
ฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น (Platelet Rich Plasma)
การฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น หรือการทำ PRP เป็นการบำรุงรากผมโดยการนำเกล็ดเลือดเข้มข้น ที่เต็มไปด้วยเกล็ดเลือด สารอาหาร และ Growth Factor ต่างๆ ที่จำเป็นต่อการสร้างเส้นผมหรือเส้นเลือดฝอย ฉีดเข้าไปบริเวณหนังศีรษะ ทำให้รากผมแข็งแรง และถูกกระตุ้นให้สร้างผมที่คุณภาพดีกว่าเดิม ทั้งยังกระตุ้นให้เกิดการสร้างเส้นเลือดฝอย ทำให้สารอาหารถูกลำเลียงมาใช้เลี้ยงรากผมได้มากกว่าเดิมอีกด้วย
ฉีดสเต็มเซลล์ผม (Rigenara Activa)
สเต็มเซลล์ผม เป็นเซลล์ต้นกำเนิดของเซลล์ต่างๆ บนหนังศีรษะ ทำให้อุดมไปด้วยสารที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของเซลล์ต่างๆบริเวณหนังศีรษะ รวมถึงเซลล์รากผมด้วย การฉีดสเต็มเซลล์ผมนี้จะทำให้รากผมแข็งแรง และกระตุ้นให้เกิดการสร้างเส้นผมที่คุณภาพดี ดก หนา และช่วยลดการทำงานของฮอร์โมน DHT ต้นเหตุของอาการผมร่วงในเพศชายด้วย
ทำเลเซอร์กระตุ้นรากผม
การทำเลเซอร์กระตุ้นรากผม เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเซลล์ ซึ่งการทำเลเซอร์กระตุ้นรากผมที่ Absolute Hair Clinic มีบริการเลเซอร์ให้เลือกทำ 2 ชนิด ได้แก่ โฟโตน่าเลเซอร์ และเลเซอร์ LLLT
โฟโตน่าเลเซอร์ (Fotona Laser) เป็นวิธีการกระตุ้นให้รากผมแข็งแรง และทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้เลเซอร์หลังงานต่ำ 2 ตัว Er:YAG 2940nm และ Nd:YAG 1064nm ดำเนินการทุกขั้นตอนโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ระหว่างทำจะไม่รู้สึกเจ็บเลย อาจรู้สึกอุ่นๆที่หนังศีรษะบ้างเท่านั้น นอกจากนี้ Absolute Hair Clinic ยังเป็นเจ้าแรกในประเทศไทยที่นำโฟโตน่าเลเซอร์เข้ามาเพื่อรักษาอาการผมร่วงอีกด้วย
เลเซอร์ LLLT เป็นคลื่นแสงสีแดง มีความยาวคลื่นในช่วง 650 – 680 นาโนเมตร เลเซอร์ตัวนี้จะไปช่วยเพิ่มพลังงานในระดับเซลล์ ทำให้เซลล์รากผมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังช่วยลดการอักเสบในกรณีที่เป็นแผลบนศีรษะด้วย โดยการทำเลเซอร์ตัวนี้สามารถซื้อเครื่องไปทำเองที่บ้านได้ด้วย
รากผมเป็นส่วนสำคัญที่สุดของผมบนศีรษะ เพราะเส้นผมจะถูกสร้างออกมาอย่างไรนั้น ถูกกำหนดโดยรากผมทั้งสิ้น หากรากผมไม่แข็งแรง เส้นผมจะอ่อนแอ เส้นเล็ก บาง หลุดร่วงง่าย แต่ถ้ารากผมแข็งแรง จะสามารถสร้างผมได้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม
ที่ Absolute Hair Clinic เราพร้อมให้คำแนะนำทุกปัญหาเส้นผม และรากผม วินิจฉัยทุกเคสโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเส้นผมและหนังศีรษะ ไม่ว่าผู้เข้ารับการรักษาจะมีปัญหาผมขาดร่วง รากผมไม่แข็งแรง เป็นโรคบนหนังศีรษะ หรือผมบางศีรษะล้าน สามารถปรึกษากับเราได้ แพทย์เฉพาะทางสามารถให้คำปรึกษา และแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะกับผู้เข้ารับการรักษาทุกคนอย่างดี
ข้อสรุป
รากผมเป็นส่วนสำคัญต่อผมอย่างมาก หากเกิดปัญหาขึ้นที่รากผมและหนังศีรษะ อาจเกิดปัญหากับสภาพเส้นผมโดยรวมได้ ดังนั้นหากเกิดความผิดปกติขึ้นที่หนังศีรษะ ควรพบแพทย์เฉพาะทางด้านเส้นผมและหนังศีรษะ เพื่อเข้ารับการวินิจฉัย และรักษาที่ต้นเหตุต่อไป
มีปัญหาเกี่ยวกับรากผม เป็นโรคที่หนังศีรษะ ต้องการสอบถามรายละเอียดและนัดเวลาเพื่อเข้ารับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเส้นผมและหนังศีรษะจาก Absolute Hair Clinic ได้ที่ Line: @Absolutehairclinic