แพทย์
โรคผมร่วงฉับพลัน (Telogen Effluvium) เป็นโรคที่ทำให้ผมร่วงทั่วศีรษะ ผู้ป่วยบางคนก็ร่วงเล็กน้อย ไม่ต่างจากผมร่วงปกติมากนัก แต่ในผู้ป่วยบางคนอาจจะทำให้ผมร่วงมาก จนผมบางเห็นหนังศีรษะได้เลย
ผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นโรคนี้ควรรู้จักอาการ และสาเหตุของโรคเบื้องต้น เพื่อรู้ทันโรค และลดปัจจัยก่อโรคที่อาจจะทำให้ผมร่วงได้มากกว่าเดิม
Absolute Hair Clinic คลินิกรักษาทุกปัญหาเส้นผมและหนังศีรษะ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
ก่อนจะรู้ว่า Telogen Phase คืออะไร จะต้องเข้าใจวงจรชีวิตเส้นผมก่อน
เส้นผมของเรานั้น จะเริ่มที่ระยะเจริญเติบโต (Anagen Phase) เส้นผมประมาณ 85 – 90% ของทั้งศีรษะจะอยู่ในระยะนี้ เส้นผมจะเจริญเติบโตอยู่ประมาณ 2 – 6 ปี ก่อนจะเข้าสู่ระยะหยุดการเจริญเติบโต (Catagen Phase)
หลังจากนั้นรากผมจะหยุดพักเพื่อฟื้นฟูตัวเองให้พร้อมสร้างเส้นผมใหม่ โดยระยะนี้เรียกว่า ระยะพัก หรือ Telogen Phase เมื่อหมดระยะพักประมาณ 1 – 4 เดือน รากผมก็จะเข้าสู่ Anagen Phase อีกครั้ง และดันผมเก่าให้หลุดออก เกิดเป็นผมร่วงที่เกิดจากวงจรชีวิตของเส้นผมตามปกติ
ดังนั้น Telogen Phase หรือระยะพัก ก็คือระยะที่รากผมจะหยุดสร้างเส้นผม เพื่อเตรียมผลัดเส้นผมชุดเก่าออก และสร้างเส้นผมชุดใหม่
โดยปกติแล้วผมทั้งศีรษะจะอยู่ในระยะ Telogen แค่เพียง 10 – 15% เท่านั้น แต่หากเกิดภาวะผมร่วงฉับพลัน เส้นผมจะอยู่ในระยะ Telogen ได้มากถึง 20 – 50%
แล้วการที่ผมเข้าสู่ Telogen Phase หรือระยะพักมาก ทำให้ผมร่วงได้อย่างไร?
ตามวงจรชีวิตของเส้นผม เมื่อครบรอบวงจร ผมก็จะร่วงออกเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ผมที่ร่วงจะร่วงไปแค่ประมาณ 10 – 15% ของเส้นผมทั้งศีรษะ ผมก็ไม่ได้บางลงไป เนื่องจากผมส่วนใหญ่ยังคงเจริญเติบโตอยู่ และผมที่ร่วงไป ก็มีผมใหม่ๆงอกขึ้นมาแทนที่อยู่ดี
แต่การที่ผมเข้าสู่ระยะพักพร้อมๆกันมากถึง 20 – 50% นั้น ทำให้ผมครึ่งหนึ่งของทั้งศีรษะร่วงออกพร้อมๆกัน จนผมดูบางลง ผมใหม่งอกก็ขึ้นมาแทนที่ไม่ทัน ทำให้สังเกตเห็นได้ง่ายว่าผมร่วงมาก
โดยปกติแล้วผมคนเราจะร่วงไม่เกินวันละ 70 – 100 เส้น แต่ผู้ที่ผมร่วงฉับพลัน สามารถผมร่วงได้มากถึงวันละ 100 – 1000 เส้นเลยทีเดียว
เปรียบเทียบผมร่วงชนิด Telogen Effluvium และ Anagen Effluvium
Telogen Effluvium เกิดจากรากผมถูกผลักให้เข้าสู่ระยะ Telogen Phase หรือระยะพักมากกว่าปกติ ในขณะที่ Anagen Effluvium หรือ “ผมระยะเจริญร่วง” เกิดจากรากผมถูกกระทบ หรือรบกวนการทำงานด้วยตัวกระตุ้นบางอย่าง จนเส้นผมในระยะ Anagen Phase หยุดเจริญเติบโตแบบฉับพลัน จนผมร่วงออกมา
ข้อแตกต่างอย่างแรกคือสาเหตุ สาเหตุหลักๆของ Anagen Effluvium คือการใช้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy)
ส่วนผมร่วงฉับพลัน Telogen Effluvium มักเกิดจากภาวะการเปลี่ยนแปลงในร่างกาย จริงๆแล้วโรคผมร่วงฉับพลันสามารถเกิดจากยาได้เช่นกัน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นยาที่มีผลกับระบบเลือด ระบบประสาท และฮอร์โมน ไม่ได้เกิดจากยาเคมีบำบัดแต่อย่างใด
ข้อแตกต่างอย่างที่สองคือลักษณะของเส้นผมที่ร่วงออกมา ผมที่ร่วงจาก Telogen Effluvium จะร่วงในช่วงระยะหลังจาก Telogen Phase ซึ่งเป็นผมที่พร้อมจะผลัดตัวอยู่แล้ว เส้นผมจึงมีรากผมติดมาด้วย เหมือนผมที่ร่วงตามปกติ
แต่ผมที่ร่วงจาก Anagen Effluvium จะเปราะหักง่าย รากผมฝ่อจากการหยุดเจริญฉับพลัน
ข้อแตกต่างอย่างที่สองคือระยะเวลาที่เกิดอาการ ผมร่วงจาก Telogen Effluvium จะเกิดขึ้นหลังจากถูกกระตุ้นประมาณ 2 – 3 เดือน ตามเวลาปกติของระยะพัก เมื่อพ้นระยะพักผมจึงจะร่วงออกมา
ส่วนผมร่วงจาก Anagen Effluvium จะร่วงหลังได้รับเคมีบำบัดไปเพียง 1 – 2 สัปดาห์ และเห็นชัดมากขึ้นใน 1 – 2 เดือน
ทั้งนี้ ทั้ง Telogen Effluvium และ Anagen Effluvium ไม่สามารถรักษาด้วยการปลูกผมถาวร อย่างการปลูกผม FUE หรือปลูกผม FUT ได้ เนื่องจากต่อมผมยังไม่ถูกทำลาย ผมสามารถงอกใหม่เองได้ เพียงแต่ต้องรอเวลาเท่านั้น
ผมร่วงเกิดจากสาเหตุอะไรได้อีก? : ผมร่วงหนักมาก! ปัญหาผมร่วงที่แก้ไม่หาย วิธีแก้ผมร่วงจากสาเหตุ คำแนะนำจากแพทย์ปลูกผม
ผมร่วงฉับพลัน Telogen Effluvium เกิดจากปัจจัยบางอย่าง ที่มากระตุ้นให้ผมส่วนใหญ่ที่ควรจะอยู่ในระยะเจริญเติบโต เข้าสู่ระยะพักพร้อมๆกัน โดยปัจจัยที่ว่านี้มี 3 อย่าง ได้แก่
โรคทางร่างกาย
ส่วนใหญ่โรคที่ทำให้เกิดภาวะผมร่วงฉับพลัน จะเป็นโรคเรื้อรังที่ส่งผลกับระบบเลือด ระบบประสาท ฮอร์โมน ระบบภูมิคุ้มกัน หรือทำให้ระบบต่างๆในร่างกายทำงานผิดปกติ
ตัวอย่างโรคเรื้อรัง เช่น โรคโลหิตจาง, โรคไทรอยด์ ทั้งไฮโปไทรอยด์ ไฮเปอร์ไทรอยด์ และไฮเปอร์พาราไทรอยด์, โรคมะเร็ง, โรคแพ้ภูมิตัวเอง, โรคตับ, โรคไต, โรคเอดส์, และโรคติดเชื้อเรื้อรังเป็นต้น
ภาวะทางจิตใจ
ภาวะช็อก ความเครียด หรือผิดหวังรุนแรง (Severe Emotional Distress) สามารถทำให้เส้นผมเข้าสู่ระยะพักได้ เป็นผลให้เกิดภาวะผมร่วงฉับพลัน นอกจากภาวะทางจิตใจแล้ว โรคทางจิตสามารถทำให้ผมร่วงฉับพลันได้เช่นกัน เช่น โรคซึมเศร้า หรือโรควิตกกังวล
ภาวะทางจิตใจ ทำให้เกิดโรคผมร่วงเป็นหย่อมได้เช่นกัน อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคผมร่วงเป็นหย่อม : โรคผมร่วงเป็นหย่อม
ภาวะการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย (Altered Physiologic states)
ภาวะการเปลี่ยนแปลงในร่างกายดังกล่าวเกิดได้จากสาเหตุหลายอย่าง ดังนี้
- มีไข้สูง (Post – febrile) เมื่อเป็นโรคต่างๆ เช่น ไข้เลือดออก หรือไข้หวัดใหญ่
- การเสียเลือดมาก หลังการผ่าตัด ศัลยกรรม หรืออุบัติเหตุรุนแรง
- ภาวะขาดสารอาหาร หรือขาดโปรตีน (Protein – calories malnutrition) หลังการอดอาหาร หรือลดน้ำหนังฉับพลัน
- การขาดวิตามินและแร่ธาตุบางอย่าง เช่น ธาตุเหล็ก สังกะสี วิตามินบี หรือวิตามินดี
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาในกลุ่มอนุพันธ์ของกรดวิตามินเอ, ยาเกี่ยวกับความดันโลหิต, ยากันชัก, หรือยาที่ใช้กับโรคไทรอยด์ เป็นต้น
- ฮอร์โมนเปลี่ยน จากการเข้าสู่วัยทอง ในผู้หญิงวัยกลางคน, ภาวะผมร่วงหลังคลอด, หรือหลังการหยุดยาคุมกำเนิด
ผมร่วงทั่วศีรษะในวัยทอง อาจจะไม่ใช่ภาวะผมร่วงฉับพลัน แต่อาจจะเกิดจากอาการผมบางกรรมพันธุ์ในผู้หญิง : ผมบางกรรมพันธุ์ในผู้หญิง
อาการของโรคผมร่วงฉับพลัน Telogen Effluvium มีดังนี้
- ผมร่วงเกินวันละ 100 เส้น อาจจะร่วงได้มากถึง 1000 เส้นในวันเดียว
- ผมดูบางลง โดยจะเห็นชัดที่บริเวณขมับทั้งสองข้าง
- ผมร่วงกระจายทั่วศีรษะ ไม่เป็นหย่อม ไม่มีแผล ผมอาจร่วงได้มากแต่จะไม่ร่วงทั้งศีรษะจนศีรษะล้าน
- บางรายขนร่วงในบริเวณอื่นด้วย เช่น ขนรักแร้ ขนที่หัวหน่าว
- ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการแสบหรือคันที่หนังศีรษะ
- อาการผมร่วงจะเริ่มเกิดขึ้นหลังการเกิดปัจจัยกระตุ้น ประมาณ 2 – 3 เดือน
ภาวะผมร่วงฉับพลันชนิด Chronic Telogen Effluvium (CTE)
โดยปกติแล้ว หากผมร่วงฉับพลัน ผมจะเริ่มเข้าสู่วงจรเส้นผมตามปกติเมื่อปัจจัยกระตุ้นหายไป โดยจะใช้เวลาฟื้นฟูตัวเองประมาณ 6 – 12 เดือน
แต่หากผมร่วงฉับพลันเกิดจากโรคเรื้อรัง และยังรักษาโรคเหล่านี้ไม่หาย ปัจจัยที่กระตุ้นให้ผมร่วงฉับพลันจะยังคงอยู่ ทำให้ผมที่งอกใหม่ร่วงออกเรื่อยๆ
หากผมร่วงฉับพลันนานกว่า 6 เดือน จะเรียกว่า Chronic Telogen Effluvium (CTE) หากเส้นผมอยู่ในภาวะนี้นานๆ ไม่หายสักที อาจจะทำให้ต่อมผมฝ่อ เมื่อรักษาหาย ผมจะบาง ผมขึ้นได้ไม่เต็มที่เหมือนเดิม
ก่อนอื่น แพทย์จะดูก่อนว่าผมร่วงมากกว่าปกติหรือเปล่า หากเป็นกรณีที่ผมร่วงไม่มาก ผมไม่ได้บางลงมากอาจจะดูด้วยตาเปล่ายาก แพทย์จะตรวจด้วยการให้หวีผมต่อเนื่องกัน 60 วินาที หากผมร่วงเกิน 100 เส้น จะถือว่าผมร่วงมากกว่าปกติ
จากนั้นแพทย์จะดูว่าหนังศีรษะเป็นอย่างไร มีแผลหรือไม่ ผมร่วงกระจายตัวทั่วศีรษะหรือเปล่า ไม่มีผมร่วงเป็นหย่อมใช่ไหม หากอยู่ในเกณฑ์ของภาวะผมร่วงฉับพลัน Telogen Effluvium แพทย์จะสอบถามประวัติ เพื่อหาสาเหตุกระตุ้นย้อนหลัง
นอกจากนี้แพทย์จะตรวจสอบลักษณะผมที่ร่วงออกมาด้วย ว่าเส้นผมที่ร่วงออกมาเป็นเส้นผมในระยะพัก Telogen Phase หรือไม่ หากเข้าเกณฑ์ทั้งหมด แพทย์จะคาดว่าเป็นภาวะผมร่วงฉับพลัน Telogen Effluvium
โรคผมร่วงฉับพลัน Telogen Effluvium รักษาอย่างไร? ปกติแล้วโรคนี้สามารถหายเองได้โดยไม่ต้องรักษา เพราะเส้นผมแค่ถูกผลักให้เข้าสู่วงจรชีวิตขั้นถัดไปเร็วกว่าปกติ โดยที่รากผม หนังศีรษะ หรือต่อมผมไม่ได้ถูกทำลายแต่อย่างใด
หากปัจจัยกระตุ้นหายไปแล้ว เพียงแค่รอเวลาให้ผมงอกประมาณ 6 – 12 เดือน เส้นผมก็จะกลับมาดกหนาดังเดิม
แต่ถ้าต้องการให้ผมขึ้นเร็วกว่าเดิม สามารถใช้ยาแก้ผมร่วง 5% Minoxidil ได้ แต่ควรทำร่วมกับการดูแลตัวเอง เพื่อลดปัจจัยอื่นๆที่ทำให้ผมร่วงฉับพลัน เช่น รับประทานอาหารบำรุงผม ที่มีสารอาหารจำพวกโปรตีน ธาตุเหล็ก สังกะสี วิตามินดี ไบโอติน พักผ่อนให้เพียงพอ พยายามไม่เครียด
เพียงเท่านี้ก็สามารถรักษาโรคผมร่วงฉับพลันได้แล้ว
ส่วนผู้ที่ผมร่วงฉับพลันจากโรคเรื้อรัง จำเป็นต้องรักษาโรคต้นเหตุให้หายก่อน แล้วจึงรักษาอาการผมร่วงผมบางจากต่อมผมฝ่อต่อไป
ผมร่วง ผมบางถาวรจากรากผมฝ่อ สามารถรักษาได้ด้วยการปลูกผม แต่ควรเลือกปลูกผมกับคลินิกไหนดี : ปลูกผมที่ไหนดี ? เคล็ดลับการเลือกคลินิกปลูกผมที่เหมาะสม ก่อนตัดสินใจปลูกผมถาวร
ปรึกษาปัญหาผมร่วงฉับพลันกับ Absolute Hair Clinic
แม้โรคผมร่วงฉับพลันจะหายเองได้ แต่ก็ควรมาตรวจกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาสาเหตุของอาการ จะได้ไม่ทำให้เกิดปัจจัยกระตุ้นขึ้นมาอีก นอกจากนี้หากต้องการให้ผมขึ้นเร็ว ต้องการใช้ยาแก้ผมร่วง ก็ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ ไม่ควรซื้อมาใช้เอง เนื่องจากยามีผลข้างเคียง
ที่ Absolute Hair Clinic ทีมแพทย์ของทางคลินิกเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเส้นผมและหนังศีรษะ สามารถรักษา และหาสาเหตุของอาการผมร่วงฉับพลันได้อย่างตรงจุด
ทั้งยังสามารถแนะนำวิธีการดูแลตัวเอง และการรักษาควบคู่อื่นๆ อย่างการฉีด PRP ผม หรือการทำ Fotona Laser ที่สามารถทำให้อาการผมร่วงดีขึ้นได้ด้วย
รู้จักกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พร้อมทั้งผลงานของแพทย์แต่ละท่านจาก Absolute Hair Clinic :
ข้อสรุป
โรคผมร่วงฉับพลัน เกิดจากปัจจัยต่างๆ ไปกระตุ้นให้ผมเข้าสู่ระยะพัก จนผมร่วงมากกว่าปกติ โดยปัจจัยเหล่านั้นคือโรคเรื้อรัง สภาพจิตใจ ฮอร์โมน ยา และภาวะต่างๆที่เป็นการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกาย
โรคผมร่วงฉับพลันนี้ไม่จำเป็นต้องรักษา สามารถหายเองได้ใน 6 – 12 เดือน แต่ก็ควรมาพบแพทย์ เพื่อหาปัจจัยก่อโรค ป้องกันการเกิดโรคผมร่วงฉับพลันอีกในอนาคต
หากกำลังเป็นโรคผมร่วงฉับพลัน Telogen Effluvium ต้องการรักษา หรือปรึกษาแพทย์ สามารถติดต่อเข้ามาเพื่อนัดเวลาปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจาก Absolute Hair Clinic ได้ที่ Line: @Absolutehairclinic