ปัญหาหัวล้าน เป็นอาการที่พบมากในผู้ที่มีอายุ แม้จะเป็นเรื่องปกติ แต่ก็สร้างความกังวล และทำให้เสียความมั่นใจได้อย่างมาก ทั้งยังเป็นภาวะที่ดูแลรักษาได้ยากหากปล่อยทิ้งไว้นาน เมื่อไหร่ก็ตามที่ผมร่วงมากกว่าปกติ ก็ควรรีบดูแลใส่ใจ เพราะอาจจะเป็นสัญญาณบ่งบอกอาการหัวล้าน
ผมร่วงมากแค่ไหนจึงผิดปกติ และควรพบแพทย์? : การวัดผมร่วงโดยการหวีผมหนึ่งนาที
ในบทความนี้ Absolute Hair Clinic จะตอบคำถามเกี่ยวกับอาการศีรษะล้าน ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร สามารถรักษาได้หรือไม่ มีวิธีใดที่สามารถป้องกันศีรษะล้านได้บ้าง
Absolute Hair Clinic คลินิกแก้ปัญหาผมร่วง หัวล้าน ดูแลคุณทุกขั้นตอนโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเส้นผมและหนังศีรษะ รู้จักกับ Absolute Hair Clinic และบริการต่างๆจากทางคลินิก : Absolute Hair Clinic (Home)
หัวล้าน ปัญหาหนักใจที่แก้ไขได้
หัวล้าน เป็นปัญหาหนึ่งที่สร้างความหนักใจให้หลายคน เพราะมีผลต่อภาพลักษณ์ และทำให้ดูมีอายุมากด้วย หัวล้านสามารถเกิดได้กับทั้งผู้ชาย และผู้หญิง แต่จะพบมากในผู้ชาย เนื่องจากฮอร์โมนเพศชายมีผลอย่างมากต่อการทำให้ผมร่วงจนศีรษะล้าน
ทั้งนี้ ปัญหาน่าหนักใจดังกล่าวสามารถแก้ไขได้ ทั้งจากการดูแลตนเองเบื้องต้น และการดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ผู้ที่รู้ตัวว่าเริ่มผมร่วง ควรดูแลตนเองเบื้องต้นด้วยการควบคุมอาหาร การพักผ่อน การออกกำลังกายดูแลสุขภาพ การควบคุมความเครียด หากทำแล้วผมยังคงร่วงเนื่องจากปัจจัยอื่นที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการดูแลสุขภาพ ก็ควรพบแพทย์เพื่อรักษาปัญหาผมร่วง ก่อนจะลุกลามเป็นศีรษะล้านต่อไป
ปัญหาผมร่วงหัวล้านนั้น ยิ่งรู้ตัวเร็ว รีบรักษา ยิ่งแก้ไขได้ง่าย ควรรีบพบแพทย์แต่เนิ่นๆ ก่อนที่อาการศีรษะล้านจะลุกลามมาก หากปล่อยไว้จนผมร่วงถาวรเกือบทั้งศีรษะ แม้แต่การปลูกผมถาวรก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้
สาเหตุของหัวล้าน มีอะไรบ้าง
ปัญหาหัวล้านเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง อาจจะเกิดจากสาเหตุเดียว หรือจากหลายสาเหตุประกอบกันก็ได้ ผู้ที่ผมร่วงและมีแนวโน้มศีรษะล้าน ควรมีความรู้เรื่องสาเหตุของอาการผมร่วง เพื่อสามารถประเมินตนเองได้เบื้องต้น และสามารถบอกอาการ และสาเหตุที่สงสัยกับแพทย์ เพื่อให้ง่ายต่อการรักษามากขึ้น
สาเหตุส่วนใหญ่ของอาการหัวล้าน มีดังนี้
- ฮอร์โมนเพศชาย
ฮอร์โมนเพศชาย เป็นสาเหตุหลักของอาการผมร่วงในเพศชาย เนื่องจากฮอร์โมนเพศชายที่ชื่อเทสโทสเตอโรน (Testosterone) และฮอร์โมนที่มีชื่อว่า DHT
ฮอร์โมนไดไฮโดรเทสโทสเตอโรน (Dihydrotestosterone) หรือที่เรียกว่า DHT คือฮอร์โมนที่สร้างขึ้นมาจากเทสโทสเตอโรน เมื่อเทสโทสเตอโรนเข้าไปที่เนื้อเยื่อบริเวณต่อมลูกหมาก ถุงน้ำเชื้อ ผิวหนัง รากผม รูขุมขน ตับ และสมอง เทสโทสเตอโรนจะถูกเอนไซม์5Alpha Reductaseเปลี่ยนให้กลายเป็น DHT
หากมี DHT ที่รากผม ฮอร์โมนตัวนี้จะไปจับกับตัวรับ (Receptor) ที่อยู่ที่รากผม ทำให้รากผมสร้างผมได้น้อยลง ผมเส้นเล็กลง ระยะเจริญสั้นลง ระยะพักนานขึ้น DHTมีในทุกคนแต่พันธุกรรมจะเป็นตัวกำหนดตัวรับ ให้ทำงาน ทำให้ผมบาง
เมื่อระยะเจริญของเส้นผมสั้นลง ผมก็จะมีโอกาสงอกยาวได้น้อยลง และการที่ระยะพักนานขึ้น ทำให้เส้นผมหยุดสร้างผมเป็นระยะเวลานาน ระยะพักของเส้นผมจะยิ่งนานขึ้นเรื่อยๆ เส้นผมเล็กลงจำนวนผมต่อรูรากผมลดลง จนสุดท้ายรากผมจะไม่สร้างผม และฝ่อไป เมื่อเกิดขึ้นในบริเวณกว้าง ศีรษะก็จะล้านในที่สุด
ระยะเจริญ ระยะพักคืออะไร? วงจรของเส้นผมมีกี่ระยะ? ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ผมร่วงและวงจรของเส้นผม
ผู้หญิงหัวล้านสามารถเกิดจากฮอร์โมน DHT ได้เช่นกัน เนื่องจากในผู้หญิงเองก็มีฮอร์โมนเพศชายอย่างเทสโทสเตอโรน และ DHT ด้วย
หากร่างกายยังอยู่ในสภาวะปกติ ผู้หญิงจะมีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน และ DHT น้อย ทำให้ฮอร์โมนไม่สามารถทำให้ผมร่วงได้มากนัก อีกทั้งในผู้หญิงยังมีฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมนอีสตราไดออล (Estrodiole) ที่ทำให้ผมแข็งแรง มีระยะเจริญนาน ส่งผลให้ DHT ออกฤทธิ์ได้น้อยลงไปอีก
ผู้หญิงจะผมร่วง และหัวล้านจากฮอร์โมนได้ก็ต่อเมื่อ ร่างกายผิดปกติจนฮอร์โมนเสียสมดุล หรือกำลังใช้ยาบางอย่างที่ทำให้ระดับฮอร์โมนผิดปกติ
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ DHT และสาเหตุของอาการหัวล้านจากฮอร์โมนในเพศชาย : DHT
- กรรมพันธุ์
กรรมพันธุ์มีผลอย่างมากต่อสิ่งมีชีวิต ในการกำหนดลักษณะต่างๆ เส้นผมของมนุษย์เองก็มีผลมาจากการกำหนดลักษณะของพันธุกรรมเช่นกัน
ผมจะเส้นบาง เส้นหนา ทนทานต่อปัจจัยที่ทำให้ผมร่วงได้มากหรือน้อย ระยะเจริญและระยะพักของเส้นผมสมดุลไหม ฮอร์โมนเพศมีมากเท่าไหร่ มี DHT มากเกินไปหรือไม่ ตัวรับฮอร์โมนที่รากผมทำงานได้ดีขนาดไหน ลักษณะเหล่านี้ถูกกำหนดโดยพันธุกรรมทั้งหมด
ดังนั้นกรรมพันธุ์มีส่วนสำคัญอย่างมากกับอาการหัวล้าน หากผมเส้นเล็กบาง ระยะพักนานมาก ฮอร์โมน DHT เยอะ ตัวรับฮอร์โมนทำงานได้ดีเกินไป และยังเป็นโรคผมบางจากกรรมพันธุ์อีก ก็มีโอกาสที่ผมจะบางจนหัวล้านได้มากแม้จะดูแลตัวเองดีขนาดไหนก็ตาม
- อายุมาก
ในช่วงชีวิตของเรานั้น รูขุมขนหนึ่งสามารถสร้างผมได้ชุดละ 1 – 4 เส้นพร้อมๆกัน แต่ละชุด ผมจะอยู่บนศีรษะได้ประมาณ 2 – 6 ปี และสามารถสร้างผมได้มากถึง 20 ชุดตลอดชีวิต
แต่ผมชุดที่สร้างขึ้นเมื่ออายุมาก จะไม่แข็งแรงเท่าชุดแรกๆ ผมจะบางกว่า เส้นเล็กกว่า ร่วงง่าย และเป็นผมหงอกด้วย ดังนั้นอายุที่มากขึ้น จะส่งผลให้ผมแข็งแรงน้อยลง
นอกจากนี้เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายอ่อนแอลง สมดุลฮอร์โมนต่างๆก็เปลี่ยนไป ทำให้มีปัจจัยหลายอย่างให้ผมร่วงจนหัวล้านมากขึ้น เส้นผมก็แข็งแรงน้อยลง ทำให้เส้นผมทนต่อปัจจัยต่างๆเหล่านั้นได้น้อยลง
นอกจากสาเหตุที่กล่าวมาแล้ว อย่างฮอร์โมน กรรมพันธุ์ หรืออายุ หัวล้านสามารถเกิดได้ด้วยสาเหตุอื่นๆอีก เช่น โรคที่ทำให้ผมร่วง ผลข้างเคียงของโรค หรือยารักษาโรค สภาวะทางจิตใจ ความเครียด หรือสารเคมี หากผมร่วงโดยไม่ทราบสาเหตุก็ควรพบแพทย์เพื่อรักษาที่ต้นเหตุต่อไป
โรคผมบางจากกรรมพันธุ์ หรือโรคหัวล้านทางพันธุกรรม (Androgenetic Alopecia) เป็นสาเหตุอาการหัวล้านที่พบได้มากในเพศชาย และเป็นสาเหตุหลักของการผมร่วงจนผมบาง ศีรษะล้านในเพศหญิง
กรรมพันธุ์หัวล้านในเพศชายนั้น จะเป็นยีนตัวหนึ่งที่อยู่บนโครโมโซมเอกซ์ (Chromosome X) ซึ่งยีนดังกล่าวจะส่งผลให้รากผมตอบสนองกับฮอร์โมน DHT ได้มากกกว่าปกติ เมื่อ DHT ทำงานได้ดีกว่าปกติ ก็จะทำให้ผมร่วงมากกว่าปกติ หากไม่ได้รักษาก็จะทำให้ผมร่วงเร็วจนศีรษะล้าน
โดยหัวล้านผู้ชายจะเริ่มจากหัวล้านตรงกลางศีรษะที่เรียกว่าหัวล้านไข่ดาว หรืออาจจะเริ่มจากศีรษะด้านหน้าเถิกสูงขึ้นไปก่อนก็ได้ ระยะหลังจากนั้นทั้งหัวล้านกลางศีรษะ และศีรษะเถิกจะเกิดขึ้นพร้อมกัน
เมื่อเป็นหนักขึ้น และไม่ได้รักษา ศีรษะล้านกลางหัวก็จะกว้างออก ศีรษะเถิกก็จะสูงขึ้น จนมาบรรจบกัน และทำให้หัวล้านทั้งศีรษะ เหลือไว้เพียงผมในส่วนหลังกกหู และส่วนท้ายทอย ที่ไม่ได้มีตัวรับ DHT ทำให้ผมทั้งสองสวนนี้ไม่ร่วงจากฮอร์โมนนั่นเอง
ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคหัวล้านทางพันธุกรรม ที่เกิดขึ้นได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิง : หัวล้านกรรมพันธุ์
ส่วนหัวล้านกรรมพันธุ์ในเพศหญิงนั้น ปัจจุบันการแพทย์ยังหาสาเหตุไม่ได้ว่าเกิดจากยีนตัวใด และเพราะอะไรจึงทำให้ศีรษะล้าน
หัวล้านในผู้หญิงจะเริ่มจากอาการผมร่วงมากผิดปกติจนผมกลางศีรษะบางลงอย่างเห็นได้ชัด จากนั้นจะกว้างเป็นวงกลมออกมาเรื่อยๆจนศีรษะด้านบนล้าน
นอกจากนี้หัวล้านกรรมพันธุ์ในผู้หญิงรักษายากกว่าในผู้ชายด้วย เพราะในผู้ชายยังเหลือเส้นผมถาวรที่หลังกกหูและท้ายทอย แม้ผมจะร่วงออกไป ผมในบริเวณดังกล่าวก็จะไม่ฝ่อไปจากพันธุกรรม หากต้องการปลูกผมถาวร ยังสามารถนำผมในบริเวณนี้มาปลูกได้อีกด้วย
แต่ในผู้หญิง หากผมบางจากพันธุกรรม ผมทั้งศีรษะก็จะได้ผลกระทบนั้นไปด้วย แม้แต่ผมท้ายทอยที่แข็งแรงกว่าผมในส่วนอื่นๆ ก็สามารถบางลงและฝ่อไปจากหัวล้านกรรมพันธุ์ได้เช่นกัน
หากต้องปลูกผม ผมท้ายทอยที่นำมาปลูกก็อาจจะนำมาปลูกไม่ได้เพราะบางเกินไป ถึงปลูกได้ก็มีโอกาสร่วงจากเหตุผลทางพันธุกรรมอีกอยู่ดี
ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับผมบางพันธุกรรมในผู้หญิง สาเหตุที่ทำให้ผมร่วงจนอาจหัวล้านได้ : ผมบางกรรมพันธุ์ ผู้หญิง
โรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia Totalis)
โรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia Areata) เป็นโรคที่ทำให้ผมร่วงจากอาการอักเสบที่รากผมใต้ผมหนัง โรคนี้ไม่ได้ทำให้หัวล้านหมดทั้งศีรษะ แต่จะทำให้ผมร่วงหายไปทั้งหมดเป็นบริเวณวงกลมขนาดประมาณเหรียญสิบบาท อาจจะมีวงเดียว หลายวง หรือเกิดในบริเวณอื่นๆของร่างกายที่มีขนขึ้นก็ได้
โรคนี้ทางการแพทย์ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากอะไร ปัจจัยใดทำให้รากผมอักเสบ แต่สันนิษฐานกันว่าอาจจะเกิดจากโรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อตัวเอง (Autoimmune Diseases) โรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันอื่นๆ ความเครียดสะสม กรรมพันธุ์ หรือไวรัสบางชนิด
อีกทั้งยังยากต่อการวินิจฉัย เนื่องจากบริเวณที่ผมร่วงไปไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆ อย่างอาการบวมแดง หรือหนังศีรษะลอกเลยแม้แต่น้อย เป็นเพียงผิวหนังเรียบๆตามปกติเท่านั้น
โรคผมร่วงเป็นหย่อมไม่ได้ทำให้หัวล้านถาวร โรคนี้สามารถหายเองได้ ผมส่วนที่ร่วงไปก็สามารถขึ้นใหม่ได้ใน 6 – 12 เดือน แต่ถ้าเวลาผ่านไปนานระยะหนึ่งแล้วผมไม่ขึ้น หมายความว่าอาการผมร่วงเป็นหย่อมอาจจะเกิดจากโรคที่ทำให้อาการอักเสบยังคงอยู่ อย่างโรคที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันต่างๆ เช่น ไทรอยด์ ด่างขาว เป็นต้น
หากผมร่วงเป็นหย่อมควรรีบพบแพทย์ เนื่องจากอาจจะเกิดจากผลข้างเคียงของโรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันที่อันตราย อีกทั้งยังทำให้เสียบุคลิก เสียความมั่นใจ และมีโอกาสที่ผมจะร่วงถาวร หากรีบรักษาก็มีโอกาสรักษาหายได้มากขึ้น
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคผมร่วงเป็นหย่อม : ผมร่วงเป็นหย่อม
โรคผมร่วงฉับพลัน (Telogen Effluvium)
โรคผมร่วงฉับพลัน หรือโรคผมร่วงทั่วศีรษะ (Telogen Effluvium) เป็นโรคที่ทำให้ผมร่วงทั่วศีรษะในเวลาไม่นาน เกิดจากมีตัวกระตุ้นบางอย่าง ทำให้ผมในระยะเจริญ เข้าสู่ระยะพักมากกว่าปกติ อาการมักจะแสดงหลังเกิดการกระตุ้นประมาณ 3 เดือน บางครั้งผู้ป่วยจึงไม่รู้ว่าตนเองผมร่วงมากเพราะอะไร
โดยปกติแล้วเส้นผมจะอยู่ในระยะพัก ประมาณ 10 – 15% ของเส้นผมทั้งศีรษะ แต่หากเป็นโรคผมร่วงฉับพลัน อาจจะทำให้ผมเข้าสู่ระยะพักได้มากถึงเกือบ 50% เมื่อผมเกือบครึ่งของทั้งศีรษะเข้าสู่ระยะพัก พอครบกำหนดเวลา ผมก็จะร่วงในเวลาไล่เลี่ยกัน
ตามปกติแล้วผมควรร่วงวันละประมาณ 100 เส้น แต่ผู้ป่วยโรคนี้ สามารถผมร่วงได้มากถึงวันละ 700 หรืออาจจะมากถึง 1,000 เส้นเลยก็ได้
โรคนี้ไม่ได้ทำให้ผมร่วงหัวล้านถาวร เพียงแค่ทำให้ผมหายไปบางส่วนจนดูบางลงมาก และผมที่ร่วงไปก็สามารถขึ้นใหม่ได้ เนื่องจากรากผมไม่ได้ถูกทำลาย
ตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรคผมร่วงฉับพลัน สามารถเป็นได้ทั้งโรค ยา การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน หรือแม้การทั่งภาวะทางจิตใจ เช่น โรคมะเร็ง โรคไตเรื้อรัง หลังคลอดหรือแท้งบุตร ความเครียด อาการช็อค เป็นโรคที่มีไข้สูง
ผู้ที่ผมร่วงฉับพลันควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาการผมร่วงที่มากกว่าปกติอาจจะเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้าย อีกทั้งยังทำให้ผมบางมากจนเสียความมั่นใจได้
โรคดึงผมตัวเอง (Trichotillomania)
โรคดึงผมตัวเอง (Trichotillomania) เป็นโรคที่ผู้ป่วยจะแสดงออกทางพฤติกรรม ผู้ป่วยจะชอบตึงผม หรือดึงขนในส่วนต่างๆของร่างกายออกมาโดยไม่สามารถควบคุมตัวเองให้หยุดดึงได้ จะดึงทีละน้อยๆ แต่ดึงบ่อย บางทีก็ดึงแบบไม่รู้ตัว จนทำให้ผมบาง และหัวล้านได้ในที่สุด
ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าการดึงผมทำให้ผ่อนคลายได้ ในทางกลับกันการบังคับตัวเองไม่ให้ดึงผมเป็นความเครียดและความกดดันอย่างมาก
ผู้ป่วยมักจะมีผมลักษณะ หรือตำแหน่งที่ชอบดึงอยู่ เมื่อดึงออกมาก็จะรู้สึกดีมาก นำผมมาดูเล่น บางคนชอบนำผมไปลูบตามหน้าและปาก บางคนถึงขั้นกัดหรือกินเข้าไป จนเกิดโรคแทรกซ้อนเกี่ยวกับลำไส้ด้วย
โรคดึงผมตัวเองเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งสภาพจิตใจ ความเครียด สภาพแวดล้อม กรรมพันธุ์ สารเคมีในสมองผิดปกติ หรือเป็นอาการที่เกิดจากโรคทางจิตเวชอื่นๆ เช่น โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder) หรือโรควิตกกังวลประเภทย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-compulsive disorder หรือ OCD)
โรคดึงผมพบมากในเด็กอายุ 10 – 17 ปี หากพาไปพบจิตแพทย์ในช่วงอายุเท่านี้จะรักษาง่าย แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ ก็สามารถเป็นได้ถึงวัยผู้ใหญ่ หากเป็นในวัยผู้ใหญ่ก็จะรักษายาก อาจจะต้องใช้ยากล่อมประสาท หรือยาต้านซึมเศร้าในการรักษาร่วมด้วย
โรคนี้ไม่ได้ทำให้ศีรษะล้านถาวร หากรักษาอาการทางจิตแล้ว สามารถเลิกดึงผมได้แล้ว แพทย์ด้านเส้นผมและหนังศีรษะก็จะรักษาเพื่อให้ผมกลับมาขึ้นดังเดิม
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคดึงผมตัวเอง : โรคดึงผม
ปัจจัยอื่นที่อาจส่งผลทำให้หัวล้าน
ความเครียด
ความเครียดทำให้ผมร่วงมากจนหัวล้านได้จากหลายสาเหตุ เพราะนอกจากจะส่งผลด้านจิตใจแล้ว ความเครียดยังส่งผลให้ร่างกายเสียสมดุล ระบบต่างๆในร่างกายทำงานผิดปกติ สารเคมีในสมองทำงานผิดปกติ
ทางด้านจิตใจ ความเครียดอาจจะทำให้เป็นโรคดึงผมตัวเองได้ หรืออาจจะเป็นโรคอื่นๆอย่างโรคซึมเศร้า หรือโรคย้ำคิดย้ำทำ จนนำไปสู่การดึงผมได้ในที่สุด นอกจากนี้ ความเครียดอาจจะทำให้รากผมเข้าสู่ระยะเจริญ จนทำให้เป็นโรคผมร่วงเฉียบพลันได้
ในด้านร่างกาย ถ้าความเครียดทำให้ฮอร์โมนผิดปกติ ก็จะทำให้ผมร่วงจากฮอร์โมน DHT ได้มาก ผมได้รับการบำรุงจากฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง หรือถ้าความเครียดส่งผลกับระบบภูมิคุ้มกัน ก็จะทำให้เม็ดเลือดขาวทำลายรากผม จนเกิดการอักเสบที่รากผม เกิดโรคผมร่วงเป็นหย่อมได้
ขาดสารอาหาร
สารอาหารเป็นส่วนสำคัญในการเจริญเติบโตของเส้นผม โดยเฉพาะโปรตีน เพราะเป็นส่วนประกอบหลักของเส้นผมอย่างเคอราติน ซึ่งเคอราตินนี้คือสายโปรตีนที่จับตัวกันเป็นก้อนนั่นเอง
นอกจากโปรตีนแล้วยังมีสารอาหารอื่นๆอีกที่มีผลต่อการเติบโตของเส้นผม เช่น ไบโอติน กรดไขมัน ซิงค์หรือสังกะสี วิตามินเอ วิตามินซี
นอกจากนี้ธาตุเหล็กที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในเม็ดเลือดแดง ก็มีความสำคัญมากกับการงอกผมเช่นกัน หากไม่มีธาตุเหล็ก เม็ดเลือดแดงก็จะลำเลียงสารอาหารมาที่รากผมได้น้อยลง
หากรากผมขาดสารอาหาร รากผมก็จะสร้างผมได้น้อยลง เส้นเล็กลง บางลง หากสารอาหารมาเลี้ยงน้อยมากๆเข้า รากผมก็จะฝ่อไป จนเป็นต้นเหตุของอาการหัวล้านถาวรได้
สารอาหารแต่ละอย่างมีความสำคัญกับผมอย่างไร? เรียนรู้เพิ่มเติม : อาหารบำรุงผม
การรักษาหัวล้านโดยการใช้ยา
ยาที่ใช้สำหรับรักษาหัวล้าน คือยาแก้ผมร่วง ที่จะไปช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นผม ทำให้เลือดไปเลี้ยงผมได้ดีขึ้น
- Minoxidil
ยาไมนอกซิดิวล์ (Minoxidil) เป็นยาขยายหลอดเลือด ลอความดันโลหิตเมื่อไปออกฤทธิ์ที่รากผม เลือดก็จะสามารถไปเลี้ยงที่รากผมได้มากขึ้น ทำให้รากผมผลิตผมได้ดีขึ้น ผมเส้นหนาขึ้น
รากผมที่ไม่สร้างผมไปแล้ว หากยังไม่ฝ่อไปก็จะสามารถกลับมาสร้างได้ใหม่ นอกจากนี้ ยังไปกระตุ้นการสร้างเส้นผม และทำให้ผมมีระยะเจริญที่นานขึ้นอีกด้วย
ยาตัวนี้ในแบบโลชั่นหรือโฟม อย.ได้รับการรับรองแล้ว และสามารถใช้รักษาอาการผมร่วงในผู้หญิงชายได้
ไมนอกซิดิวล์มี 2 แบบ มีแบบเม็ดใช้ทาน และแบบโลชั่นใช้ทา โลชั่นก็มีย่อยอีก 2 ชนิด แบ่งตามความเข้มข้น คือ 2% Minoxidil และ 5% Minoxidil ในผู้หญิงจะใช้ได้แบบ 2% หรือ5% ขึ้นกับแพทย์สั่งและในผู้ชายใช้แบบ 5% ใช้ทาวันละ2ครั้งๆละ1มล.
ทั้งนี้ไมนอกซิดิวล์มีผลข้างเคียง แบบเม็ดอาจจะทำให้แขนขาบวม หน้าบวม เวียนศีรษะ หัวใจเต้นเร็ว มีขนขึ้นตามใบหน้าและที่หู ส่วนแบบโลชั่นจะมีผลข้างเคียงน้อยกว่า คืออาจจะทำให้หนังศีรษะแห้งคันจากแอลกอฮอล์
ที่แบบโลชั่นมีผลข้างเคียงน้อยกว่า เป็นเพราะแบบโลชั่นจะออกฤทธิ์แค่เฉพาะที่ ไม่ส่งผลกับร่ายกายส่วนอื่นๆ เหมือนแบบเม็ดนั่นเอง
- Finasteride
ยาไฟแนสเตอรายด์ (Finasteride) เป็นยาแก้ผมร่วงที่จะทำงานโดยการลดปริมาณฮอร์โมน DHT ลง หาก DHT น้อย ผมก็จะร่วงน้อยลง แต่ยาตัวนี้ใช้ได้แค่ในผู้ชายเท่านั้น เนื่องจากสาเหตุอาการหัวล้านในผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่ใช่ DHT
ไฟแนสเตอรายด์อาจใช้ได้ในผู้หญิงที่เป็นโรคFFA หรือหมดประจำเดือนแล้ว
ไฟแนสเตอรายด์ไม่ได้มีผลข้างเคียงที่ร้ายแรงอะไร ยาอาจจะทำให้ลดความต้องการทางเพศได้ การแข็งตัวลดลงได้พบได้ประมาณ2% แต่หากหยุดยา หรือใช้ยาไปเรื่อยๆในระยะหนึ่ง ผลข้างเคียงก็จะหายไปเองในบางคน
ทั้งนี้ ยาแก้ผมร่วงสามารถรักษาอาการหัวล้านได้แค่ในระยะเริ่มต้น หรือระยะปานกลางเท่านั้น และยาแต่ละตัวออกฤทธิ์เพื่อแก้สาเหตุของอาการหัวล้านที่แตกต่างกัน ผู้ที่สนใจควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจาก Absolute Hair Clinic สามารถให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาศีรษะล้านของคุณได้ ทำความรู้จักกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจาก Absolute Hair Clinic :
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับยาแก้ผมร่วง ศีรษะล้าน : ยาแก้ผมร่วง
การรักษาหัวล้านโดยการกระตุ้นรากผม
หากกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงของยาแก้ผมร่วง ก็สามารถรักษาอาการผมร่วงหัวล้านได้ด้วยวิธีการกระตุ้นรากผมในแบบต่างๆ เนื่องจากวิธีเหล่านี้แทบไม่มีผลข้างเคียงเลย เคสที่มีผลข้างเคียงก็พบได้น้อยมาก โดยวิธีการกระตุ้นรากผมดังกล่าว มีหลายวิธีดังนี้
- PRP ผม
การทำ PRP ผม คือการฉีด PRP (Platelet Rich Plasma) หรือ เกล็ดเลือดเข้มข้นเข้าไปที่หนังศีรษะในส่วนที่หัวล้าน โดยที่ PRP จะไปกระตุ้นการสร้างเส้นเลือดและการแบ่งตัวของเซลล์ ทำให้เลือดและสารอาหารไปเลี้ยงรากผมในบริเวณนั้นได้มากขึ้น ทำให้ผมแข็งแรง เส้นใหญ่หนาขึ้น
การทำ PRP ปลอดภัยมากเนื่องจากเกล็ดเลือดเข้มข้นที่นำมาฉีดได้จากเลือดในร่างกายผู้เข้ารับการรักษาเอง ก่อนการฉีด แพทย์จะเจาะเลือดไป60-80 มล. นำไปปั่นในเครื่องหมุนเหวี่ยงจนแยกเกล็ดเลือดเข้มข้นออกมาสำหรับฉีด PRP ที่นำมาฉีดจึงไม่อันตราย และไม่มีผลข้างเคียงอะไรนั่นเอง
สนใจการทำ PRP ผม? เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อดีข้อเสีย และขั้นตอนการทำที่นี่ : PRP ผม
- ฉีดสเต็มเซลล์ผม
การฉีดสเต็มเซลล์ คือการนำเซลล์ต้นกำเนิด หรือสเต็มเซลล์ (Stem cell) จากรากผมของผู้เข้ารับการรักษาเอง มาปั่นในเครื่อง Rigenera Activa แล้วนำไปฉีดในหนังศีรษะบริเวณที่หัวล้าน
สเต็มเซลล์และสารมีประโยชน์ต่างๆ จะเข้าไปช่วยกระตุ้นการทำงานของรากผม กระตุ้นการสร้างเส้นเลือด ช่วยให้ผมแข็งแรง เส้นหนาขึ้น
การฉีดสเต็มเซลล์ปลอดภัยมาก ไม่มีผลข้างเคียง เนื่องจากสเต็มเซลล์ได้มาจากตัวผู้เข้ารับการรักษาเอง และในกระบวนการปั่นแยกสเต็มเซลล์ แพทย์ไม่ได้เติมสารอะไรลงไปเพิ่มเลยนอกจากน้ำเกลือ ทำให้สารที่นำมาฉีด เป็นสารที่ปลอดภัยมาก
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อดี ข้อเสีย และขั้นตอนการฉีดสเต็มเซลล์ผม : ฉีดสเต็มเซลล์ผม
- Fotona Laser
โฟโตน่าเลเซอร์ (Fotona Laser) เป็นเลเซอร์นวัตกรรมใหม่จากต่างประเทศ โดยที่ Absolute Hair Clinic เป็นเจ้าแรกในประเทศไทยที่นำมาใช้
โฟโตน่าเลเซอร์จะช่วยกระตุ้นการทำงานของรากผม และกระตุ้นการสร้างเส้นเลือดในบริเวณที่หัวล้าน ทำให้ผมดกหนาขึ้น โดยไม่มีผลข้างเคียง เนื่องจากยิงเลเซอร์ด้วยคลื่นพลังงานต่ำ เลเซอร์จะมีผลกับผิวหนังชั้นบนและรากผมเท่านั้น ไม่ได้ทำอันตรายกับอวัยวะอื่นๆและสมอง
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโฟโตน่าเลเซอร์ นำเข้ามาจากไหน? ปลอดภัยจริงหรือ? มีการรับรองจากที่ใดบ้าง? : โฟโตน่า เลเซอร์
- LLLT Laser
Low Level Laser Therapy (LLLT) คือเลเซอร์กระตุ้นรากผมที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากทำง่าย สามารถซื้อเครื่องมาทำที่บ้านได้ มีทั้งแบบเครื่องสวมหัว เครื่องที่เป็นหมวกแก๊บ หรือแบบหวี
เลเซอร์ LLLT ปลอดภัยมาก เนื่องจากเป็นคลื่นพลังงานต่ำสีแดงที่จะให้พลังงานกับเซลล์หนังศีรษะ ช่วยกระตุ้นการทำงานของเซลล์ต่างๆ กระตุ้นรากผม กระตุ้นการสร้างเส้นเลือด ทำให้เลือดบริเวณหนังศีรษะไหลเวียนดีขึ้น นอกจากรักษาหัวล้านแล้ว เลเซอร์ตัวนี้ยังทำให้แผลสมานเร็ว และลดการอักเสบได้อีกด้วย
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อดี ข้อเสีย ของเลซอร์ LLLT ซื้อเครื่องไว้ใช้ที่บ้าน คุ้มค่าหรือไม่? : เลเซอร์ LLLT
ทั้งนี้ การกระตุ้นรากผมใช้รักษาได้แค่หัวล้านในกรณีที่ยังมีรากผมอยู่เท่านั้น หากรากผมฝ่อไปแล้ว ต้องรักษาด้วยการปลูกผมแทน
การกระตุ้นรากผมแต่ละแบบมีข้อดี ข้อเสียแตกต่างกันไป ระยะเวลา ผลลัพธ์ที่ใช้ก็ต่างกันไปในแต่ละคน ผู้ที่สนใจควรเข้าปรึกษากับแพทย์ก่อน เพื่อเลือกวิธีรักษาที่เหมาะกับคุณมากที่สุด
การรักษาหัวล้านด้วยการปลูกผมถาวร
การปลูกผมถาวรเป็นการรักษาในกรณีที่หนังศีรษะในบริเวณที่หัวล้าน ไม่มีรากผมแล้ว โดยการปลูกผมจะเป็นการนำเส้นผมถาวรในส่วนท้ายทอย หรือหลังกกหู ไปปลูกในบริเวณที่ไม่มีผม
การปลูกผมมีข้อดีคือ ผลหลังจากการปลูกผมจะอยู่อย่างถาวร เนื่องจากผมถาวรไม่มีตัวรับที่ทำให้ผมร่วงจากฮอร์โมน เมื่อย้ายไปปลูกในที่ใหม่ ผมก็จะยังคงไม่ร่วงจากฮอร์โมนเช่นเดิม
ส่วนข้อเสียคือการปลูกผมเป็นการผ่าตัดเล็ก ต้องมีเวลาทั้งวันสำหรับปลูกผม และเวลาอีก 1 – 2 วันสำหรับพักฟื้น อีกทั้งการผ่าตัดเป็นแผลเปิด ทำให้มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้ออยู่บ้างเล็กน้อย การปลูกผมบางแบบก็อาจจะทำให้เกิดรอยแผลเป็นเล็กๆที่ท้ายทอย ที่อาจจะมองเห็นชัดเมื่อโกนศีรษะ
แต่ในขณะเดียวกัน หากเลือกคลินิกที่มีคุณภาพ ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อก็จะต่ำลงมาก ไม่อันตราย และไม่เจ็บ เนื่องจากแพทย์จะใช้ยาชาในทุกขั้นตอน และถ้าหลังปลูกผมดูแลตัวเองดี ก็จะมีโอกาสปลูกผมติดได้มาก และมีโอกาสติดเชื้อน้อยมาก
ผู้ที่สนใจควรศึกษาเกี่ยวกับการปลูกผมอย่างละเอียด และควรปรึกษาแพทย์ถึงความเป็นไปได้ของการรักษาอื่นๆ โดยไม่ต้องปลูกผม
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการปลูกผม และการปลูกผมแบบต่างๆ :
ทั้งนี้ การปลูกผมก็รักษาได้แค่กับอาการหัวล้านที่ไม่ได้เกิดทั้งศีรษะ หากอาการหัวล้านกินพื้นที่มากเกินไป ก็จะไม่มีผมถาวรเพียงพอที่จะปลูก
วิธีป้องกันหัวล้าน รู้ไว้ก่อนสาย
อาการหัวล้านที่ไม่ได้เกิดจากโรค หรือความผิดปกติทางพันธุกรรม สามารถป้องได้ด้วยการปรับพฤติกรรม ดังนี้
- สระผมอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 – 3 ครั้ง เพื่อรักษาความสะอาด ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่ทำให้ผมร่วง
- ทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ และอาหารบำรุงผม เพื่อให้ไม่เกิดปัญหาผมร่วงจากการขาดสารอาหาร
- เลี่ยงการทำร้ายผม เช่น การเกาหนังศีรษะแรงๆ การหวีผมแรง และบ่อยเกินไป การถักเปีย หรือมัดผมแน่นเกินไป
- ไม่ให้หนังศีรษะสัมผัสกับอุณหภูมิที่ร้อนจัด หรือเย็นจัด เพราะจะทำให้หนังศีรษะเสียสมดุล
- เลี่ยงการใช้ความร้อนและสารเคมีกับเส้นผม เช่นการหนีบผม ไดร์ผม ดัดผม ยืดผม หรือย้อมสีผม เพราะจะทำให้ผมเสีย เปราะขาดง่าย แตกปลาย และอาจจะเกิดโรคผื่นแพ้สัมผัสที่หนังศีรษะ (Contact Dermatitis) จนทำให้ผมร่วงหัวล้านได้
- ไม่สูบบุหรี่ หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้เส้นเลือดหดเกร็ง ความดันสูง จนทำให้เส้นเลือดฝอยถูกทำลาย เลือดไปเลี้ยงรากผมได้น้อยลง เป็นสาเหตุของหัวล้าน
- หาเวลาพักผ่อน ผ่อนคลายความเครียด
คำถามที่พบบ่อย
ใส่หมวก ใส่วิก ทำให้หัวล้านจริงหรือไม่
ใส่หมวก ใส่วิกไม่ได้ทำให้หัวล้าน หลายคนเข้าใจว่าการใส่หมวก ใส่วิกจะทำให้ผมได้รับออกซิเจนน้อยลง จนทำให้ผมร่วง และหัวล้านได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผมได้รับออกซิเจนผ่านทางเลือด ไม่ใช่ผิวหนัง ดังนั้นการใส่วิกหรือหมวก ไม่ได้มีผลอะไร
การใส่หมวก ใส่วิกอาจจะทำให้หัวล้านในทางอ้อมมากๆ เช่น ทำให้เหงื่อออกมาก ไม่สระผม เกิดการสะสมของเซลล์ที่ตายแล้ว หนังศีรษะมัน จนเกิดเป็นรังแคเปียก หรือโรคผื่นภูมิแพ้ที่หนังศีรษะ (Seborrheic Dermatitis) ที่ทำให้คัน เมื่อเกาศีรษะแรงๆ ก็จะทำให้ผมร่วงได้
ซึ่งสาเหตุเหล่านี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมากๆ
ย้อมสีผมบ่อย ทำให้หัวล้านจริงไหม
ย้อมสีผมบ่อยอาจจะทำให้หัวล้านได้จริง แต่ก็มีโอกาสเกิดไม่มาก
การย้อมสีผม ทำร้ายทั้งผมและหนังศีรษะ จนผมร่วงได้ก็จริง แต่ก็ไม่ได้มากขนาดทำให้หัวล้าน การย้อมผมจะทำให้หัวล้านได้ก็ต่อเมื่อมีปัจจัยอื่นๆที่อาจจะทำให้หัวล้านอยู่แล้ว เช่นเป็นโรคทางพันธุกรรม หรือฮอร์โมนผิดปกติ การย้อมสีผมจะทำให้อาการผมร่วงรุนแรงขึ้น
อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การย้อมสีผมรุนแรงจนหัวล้านได้ คือการแพ้สารบางอย่างในน้ำยาย้อมสีผม จนเกิดเป็นโรคผื่นแพ้สัมผัสที่หนังศีรษะ (Contact Dermatitis) หากแพ้รุนแรงก็อาจจะกลายเป็นแผลเป็น จนทำให้ผมร่วง และหัวล้านถาวรได้ แต่เหตุเหล่านี้ก็เกิดขึ้นได้ไม่บ่อย
ข้อสรุป ‘หัวล้าน’
หัวล้าน เกิดจากผมร่วงมากอย่างผิดปกติ ทำให้ผมน้อยจนเห็นหนังศีรษะ สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งกับผู้ชายและผู้หญิง แม้จะเป็นเรื่องปกติ แต่ก็มีผลกระทบกับความมั่นใจในตนเองมาก หากรู้ตัวว่าผมร่วงมาก ควรรักษาตั้งแต่เนินๆ เนื่องจากการรักษาผมร่วง ทำง่ายกว่าการรักษาหัวล้านมาก
การรักษาหัวล้านสามารถทำได้ก็จริง แต่หากมาพบแพทย์ช้าเกินไป จนผมร่วงเกือบทั้งศีรษะ จะทำให้รักษาด้วยการกระตุ้นรากผม หรือใช้ยาแก้ผมร่วงไม่ได้เนื่องจากรากผมฝ่อ การปลูกผมถาวรก็ใช้ไม่ได้ถ้ามีผมถาวรน้อยเกินไป
เมื่อไหร่ที่คิดว่าอยากรักษาอาการหัวล้าน หรือผมร่วง ให้รีบมาพบแพทย์ให้เร็วที่สุด ยิ่งพบแพทย์เร็วเท่าไหร่ ยิ่งมีโอกาสหายได้มากเท่านั้น
ต้องการรักษาอาการหัวล้าน สามารถส่งรูปหนังศีรษะมาเพื่อปรึกษากับแพทย์เฉพาะทางด้านเส้นผมและหนังศีรษะจาก Absolute Hair Clinic ได้ที่ Line: @Absolutehairclinic