โรคหนังศีรษะอักเสบ เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หนังศีรษะลอก มีลักษณะคล้ายรังแค เศษหนังศีรษะเหล่านั้นมักจะติดอยู่ตามหนังศีรษะ เส้นผม และตามเสื้อผ้าบริเวณบ่าไหล่ ทำให้ผู้ที่เป็นโรคดังกล่าวเสียความมั่นใจในตัวเอง เสียบุคลิกภาพ และอาจจะส่งผลให้มีปัญหากับการเข้าสังคม หรือการใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติ
ในบทความนี้ Absolute Hair Clinic จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุของโรค อาการ วิธีรักษา และข้อมูลอื่นๆที่จำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับโรคหนังศีรษะอักเสบ เพื่อสามารถรักษาตนเองได้ในเบื้องต้น และรู้ทันอาการของโรค ว่ารุนแรงในระดับที่ควรพบแพทย์แล้วหรือยัง
Absolute Hair Clinic คลินิกรักษาโรคเกี่ยวกับหนังศีรษะ แก้ปัญหาผมร่วง ผมบาง และโรคเรื้อรังต่างๆ : Absolute Hair Clinic (Home)
สารบัญบทความ
- หนังศีรษะอักเสบ (Seborrheic Dermatitis)
- หนังศีรษะอักเสบ เกิดจากอะไร
- หนังศีรษะอักเสบติดต่อกันได้ไหม
- เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์
- วิธีสังเกตอาการหนังศีรษะอักเสบ
- วิธีรักษาหนังศีรษะอักเสบ
- วิธีดูแลตัวเองเมื่อหนังศีรษะอักเสบ
- ข้อสรุป ‘วิธีรักษาหนังศีรษะอักเสบ’
หนังศีรษะอักเสบ (Seborrheic Dermatitis)
โรคหนังศีรษะอักเสบ หรือโรคผื่นภูมิแพ้ที่หนังศีรษะ (Seborrheic Dermatitis) หรือที่แพทย์เรียกกันว่า “เซ็บเดิร์ม” คือโรคเกี่ยวหนังศีรษะ ที่มีผลทำให้หนังศีรษะชั้นนอกมีอาการอักเสบ หนังศีรษะจะมัน พื้นที่ที่อักเสบจะเห็นเป็นผื่นแดง มีขุยหนังศีรษะลอกออกมาเป็นสีขาว หรือเหลือง ก่ออาการคันที่หนังศีรษะ
การอักเสบแบบเซ็บเดิร์มนี้ไม่ได้เกิดแค่ที่หนังศีรษะเท่านั้น แต่ยังสามารถเกิดได้กับที่ที่มีความมันบนผิวหนังมากๆ เช่น ที่ใบหน้า โดยเฉพาะบริเวณข้างจมูก หน้าอก ที่หลัง บางเคสพบตามข้อพับต่างๆ หรือที่สะดือด้วย
หนังศีรษะอักเสบ เกิดจากอะไร
ในปัจจุบันการแพทย์ยังไม่ได้มีข้อสรุปแน่ชัดว่าโรคหนังศีรษะอักเสบ เกิดจากอะไร แต่ส่วนใหญ่การอักเสบจะเกิดในที่ๆมีความมันบนผิวหนังมาก
เมื่อมีความมันมาก เชื้อราที่ชื่อว่ามาลาสซีเซีย (Malassezia) ก็สามารถเติบโตได้ดี หากเชื้อราชนิดนี้มีจำนวนมากเกินไป พวกมันจะไปกินน้ำมันบนหนังศีรษะจนปริมาณน้ำมันเสียสมดุล จากนั้นร่างกายจึงตอบสนองโดยการปล่อยกรดโอเลอิก (Oleic acid) ออกมา และก่อให้เกิดการอักเสบ
การอักเสบจะเกิดไหม เกิดมากหรือน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับระบบภูมิคุ้มกันของแต่ละคนด้วย ผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองผิดปกติ หรือตอบสนองต่อเชื้อรามาลาสซีเซียได้ดีเกินไป การอักเสบก็จะเกิดได้ง่าย และอาจจะรุนแรงกว่าปกติ
สาเหตุที่ทำให้ความมันบนหนังศีรษะมีมากเกินพอดีนั้น เกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
- ฮอร์โมนในร่างกายเสียสมดุล โดยฮอร์โมนแอนโดรเจนมีผลมากกว่าฮอร์โมนอื่นๆ เนื่องจากฮอร์โมนตัวนี้ควบคุมการทำงานของต่อมไขมันโดยตรง หากมีมากเกินไป ก็จะทำให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันบนผิวมากกว่าปกติ
- อากาศเย็นและแห้ง ทำให้ต่อมไขมันถูกกระตุ้นให้สร้างน้ำมันมากกว่าปกติ เพื่อรักษาความชุ่มชื้น
- หนังศีรษะถูกทำร้ายด้วยสารเคมีจนแห้งกว่าปกติ ตัวอย่างสารเคมี เช่นน้ำยาย้อมผม หรือน้ำยายืดผม
- ทานอาหารบางอย่างที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของต่อมไขมัน เช่น กรดไขมัน และวิตามินบี
- เป็นโรคทางระบบประสาท ที่ส่งผลต่อการควบคุมต่อมไขมัน เช่นโรคพากินสัน (Parkinson’s disease) หรือโรคซึมเศร้า (depression)
นอกจากจะมีหนังศีรษะที่มันแล้ว ผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหนังศีรษะอักเสบนี้ มักเป็นผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน โดยจะเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มต่อไปนี้
- ผู้ที่เป็นโรคที่มัปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันโดยตรง เช่นโรคมะเร็ง โรคเอดส์ (AIDS) โรคตับอ่อนอักเสบจากแอลกอฮอล์ (alcoholic pancreatitis)
- ผู้ที่เพิ่งหายจากโรคร้าย เช่นโรคหัวใจ
- ผู้ที่เพิ่งเข้ารับการผ่าตัดใหญ่ อย่างการปลูกถ่ายอวัยวะ
นอกจากปัจจัยต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น ยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่เพิ่มความเสี่ยง ทั้งเรื่องเกี่ยวกับต่อมไขมัน และระบบภูมิคุ้มกัน เช่น ความเครียด พักผ่อนน้อย ร่างกายอ่อนแอ การสูบบุหรี่ หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาบางชนิด หรือแม้กระทั่งพันธุกรรมที่มีมาแต่กำเนิด
หนังศีรษะอักเสบติดต่อกันได้ไหม
อาการหนังศีรษะอักเสบ เป็นแผลไม่สามารถติดต่อกันได้ แม้ว่าจะมีลักษณะหัวเป็นแผลหรือหนังศีรษะแดงก็ตาม เพราะหนังศีรษะอักเสบ เกิดจากปัจจัยภายในของแต่ละบุคคล เช่น ผิวแห้ง อาการแพ้ การติดเชื้อรา หรือโรคประจำตัว เป็นต้น รวมถึงสิ่งกระตุ้นจากภายนอกและพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันด้วย ดังนั้น จึงสามารถสรุปได้ว่า หนังศีรษะอักเสบไม่สามารถติดต่อกันได้จากคนสู่คนผ่านการสัมผัสโดยตรง แต่ถ้าหากคุณมีอาการหนังศีรษะเป็นแผล ก็ควรจะรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษาและยาทาหนังศีรษะอักเสบบรรเทาอาการให้ไวที่สุด
เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์
โรคหนังศีรษะอักเสบ ไม่ใช่โรคร้ายแรง หากไม่ได้เป็นการอักเสบที่เกิดจากโรคอื่น โรคนี้ก็สามารถรักษาได้โดยไม่ต้องพบแพทย์ เพียงแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ก็มีสามารถหายเองได้
แต่เมื่อไรก็ตามที่โรคนี้มีผลกับการใช้ชีวิตมากเกินไป เช่น
- ทำให้เกิดการระคายเคือง ไม่สบายหนังศีรษะมากจนกระทบการใช้ชีวิต ไม่มีสมาธิกับการทำงาน หรือนอนไม่ได้
- ทำให้รู้สึกอับอาย หรือมีความเครียด ความกังวลมากเกินไป จากอาการคัน การเกาศีรษะ หรือเศษหนังศีรษะลอกที่ร่วงลงมาอยู่เสื้อผ้า
- พยายามรักษาด้วยการปรับพฤติกรรม หรือใช้ยาขจัดรังแคแล้วก็ยังไม่ได้ผล รู้สึกท้อแท้เพราะไม่รู้สึกว่าอาการดีขึ้นเลย
หากโรคนี้สร้างความรำคาญใจที่มากเกินไป หรือไม่หายสักที ก็ควรพบแพทย์ เนื่องจากหากปล่อยไว้อาจจะส่งผลให้เกิดโรคทางจิตเวช อย่างโรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) หรือโรคซึมเศร้า
หรือหากรักษาไม่หายสักที อาการของโรคหนังศีรษะอักเสบอาจจะเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งมีผลจากโรคร้ายอื่นๆที่เกิดขึ้นในร่างกาย หากแพทย์วินิจฉัยและตรวจพบเร็ว ก็สามารถรักษาได้เร็วด้วย
หนังศีรษะอักเสบไม่ได้ทำให้ผมร่วง ผมบาง แต่สามารถทำให้เกิดอาการคัน เมื่อเกามากๆจะเป็นการทำร้ายหนังศีรษะจนทำให้ผมร่วงได้ สามารถรักษาผมร่วง ผมบาง ศีรษะล้านได้ด้วยวิธีเหล่านี้ :
วิธีสังเกตอาการหนังศีรษะอักเสบ
หนังศีรษะอักเสบ อาการของโรคนั้น สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า ดังนี้
- หนังศีรษะมัน
- มีขุยที่หนังศีรษะในพื้นที่ที่อักเสบ ขุยมีลักษณะเป็นรังแคสีเหลือง ชิ้นค่อนข้างใหญ่ จับตัวกันเป็นก้อนเนื่องจากความมัน
- ปื้นสีแดง ไม่มีขอบเขตชัดเจน เกิดจากการอักเสบ
- รู้สึกระคายเคือง และคันมาก
หากมีอาการนอกเหนือจากนี้ อย่างหนังศีรษะอักเสบ ผมร่วง ผมร่วงเป็นหย่อม เป็นตุ่ม เป็นแผล เป็นผื่นแดงขอบเขตชัดเจน รังแคเป็นปื้นหนา มีหนอง หรือมีตุ่มขนาดใหญ่ปูดนูนขึ้นมา ให้รีบพบแพทย์ทันที
เนื่องจากอาการเหล่านี้ไม่ใช่อาการของโรคหนังศีรษะอักเสบ แต่อาจจะเป็นโรคที่ต้องรักษาโดยแพทย์ เช่นโรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis), โรคเชื้อราบนหนังศีรษะ (Tinea Capitis) หรือชันตุ (Kerion)
วิธีรักษาหนังศีรษะอักเสบ
วิธีรักษาหนังศีรษะอักเสบมีหลายวิธี แพทย์อาจจะแนะนำให้ทำร่วมกันหลายๆอย่าง เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคให้ได้มากที่สุด โดยวิธีรักษา มีดังนี้
ใช้แชมพูที่มีส่วนช่วยลดการอักเสบของผิวหนัง
แชมพูรักษาหนังศีรษะอักเสบ คือตัวเดียวกับแชมพูขจัดรังแคที่มีขายอยู่ตามท้องตลาด เนื่องจากรังแคเปียกและหนังศีรษะอักเสบ เกิดจากความมัน และเชื้อรามาลาสซีเซียเหมือนกัน
แชมพูขจัดรังแคที่ใช้แล้วได้ผล ควรมีส่วนผสมที่ช่วยควบคุมความมัน ลดจำนวนเชื้อรา และชะลอการผลัดเซลล์ผิวหนัง เนื่องจากขุยหนังศีรษะเกิดจากการผลัดเซลล์ผิวหนังที่เร็วเกินไป เป็นผลมาจากหนังศีรษะอักเสบ โดยส่วนผสมที่ให้ผลดังกล่าว คือ
- คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) – ยากำจัดเชื้อรา สามารถลดจำนวนเชื้อรามาลาสซีเซียได้
- ซิงค์ ไพริไธโอน (Zinc Pyrithione) – ช่วยลดเชื้อรามาลาสซีเซีย
- ไพรอกโทน โอลามีน (Piroctone Olamine) – ช่วยลดเชื้อรามาลาสซีเซีย
- ซีลีเนียมซัลไฟด์ (Selenium Sulfide) – ช่วยลดเชื้อรามาลาสซีเซีย และช่วยชะลอ
กระบวนการผลัดเซลล์ผิว - น้ำมันดิน (Coal Tar) – ช่วยชะลอการผลัดเซลล์ผิว
- Tea Tree Oil – ช่วยควบคุมความมันบนหนังศีรษะ
- ซาลิไซลิก แอซิด (Salicylic Acid) – ช่วยให้เซลล์ที่ตายแล้ว หลุดจากหนังศีรษะได้ง่าย ช่วยลดความมัน แต่ก็อาจจะทำให้หนังศีรษะแห้งเกินไปได้
ยาขจัดรังแคแต่ละตัวในท้องตลาดมีชนิด และปริมาณของส่วนผสมต่างกัน ทั้งยังมีจำนวนครั้งที่ควรใช้ต่อสัปดาห์แตกต่างกันด้วย ก่อนเลือกใช้ควรอ่านฉลากดีๆ และควรสังเกตอาการก่อนใช้และหลังใช้ ว่าอาการดีขึ้นไหม มีขุยหนังศีรษะเยอะกว่าเดิมหรือไม่ คันมากขึ้นหรือเปล่า ถ้าอาการโดยรวมแย่ลงให้หยุดใช้
อาจจะเปลี่ยนไปใช้แชมพูตัวอื่นได้ เพื่อหาส่วนผสมที่เหมาะกับตนเองมากที่สุด แต่ถ้าหากใช้ไปแล้ว 12 สัปดาห์ อาการไม่แย่ลง แต่ก็ไม่ดีขึ้น ให้พบแพทย์ เนื่องจากสาเหตุของหนังศีรษะอักเสบ อาจจะไม่ได้เกิดจากปัจจัยภายนอกที่รักษาได้เอง
การรักษาด้วยการใช้ยาสเตียรอยด์
หากมารักษากับแพทย์ แพทย์วินิจฉัยว่ามีอาการอักเสบมาก หรือรักษาด้วยวิธีการอื่นไม่หาย แพทย์จะให้ใช้ยาสเตียรอยด์ที่ออกฤทธิ์เฉพาะที่ (topical steroids) เพื่อรักษาในกรณีที่ภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ หรือตอบสนองกับเชื้อราดีเกินไป
สเตียรอยด์จะไปกดภูมิคุ้มกันไว้ไม่ให้ทำงานได้เต็มที่ เพื่อลดอาการอักเสบ หรือหากใช้สเตียรอยด์ไม่ได้ แพทย์จะให้ใช้ tacrolimus หรือ pimecrolimus เพื่อลดการอักเสบแทน
ยาต้านเชื้อรา
ยาต้านเชื้อราที่นิยมใช้กันคือ Terbinafine มีทั้งแบบเม็ด และแบบทาเฉพาะที่ แบบทาใช้ได้เฉพาะในผู้ใหญ่ หากจำเป็นต้องใช้รักษาในเด็ก แพทย์จะเป็นผู้จ่ายยาเอง
ทั้งนี้ Terbinafine หากไม่จำเป็นจริงๆ แพทย์ไม่แนะนำให้ใช้ เนื่องจากมีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก แบบทาก็ทำให้ระคายเคือง ส่วนแบบเม็ดอาจจะทำให้อยากอาหารน้อยกว่าปกติ ปวดท้อง หรือปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและข้อต่อ
การบำบัดด้วยการใช้แสง
เป็นการรักษาโรคหนังศีรษะอักเสบ โดยใช้แสงอัลตาไวโอเล็ต เอ (UVA) ร่วมกับยาซอราเลน (Psoralen) แสงจะไปกระตุ้นตัวยาให้ทำปฎิกิริยากับผิวหนัง จะใช้วิธีนี้เมื่อโรคดื้อยาทาชนิดอื่นๆ โดยการรักษาจะต้องรักษาต่อเนื่อง อย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 3 – 4 เดือน
การรักษาด้วยการใช้สเตียรอยด์ ยาต้านเชื้อรา และการบำบัดด้วยแสง ต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เนื่องจากมีผลข้างเคียง และยาที่ใช้เป็นยาอันตราย ห้ามซื้อยาเพื่อใช้เองเด็ดขาด
รู้จักกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พร้อมทั้งผลงานของแพทย์แต่ละท่านจาก Absolute Hair Clinic :
สรุปได้ว่า หากเราสามารถรักษาอาการหนังศีรษะเป็นแผลได้หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการใช้แชมพูที่มีส่วนผสมในการลดการอักเสบของผิวหนัง การใช้ยารักษาหนังศีรษะอักเสบ และการบำบัดด้วยการใช้แสง แต่ไม่ว่าจะรักษาด้วยวิธีใดก็ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
วิธีดูแลตัวเองเมื่อหนังศีรษะอักเสบ
โรคหนังศีรษะอักเสบ เป็นโรคเรื้อรังที่อาจจะเป็นๆหายๆไปตลอดชีวิต การรักษาต่างๆก็มักจะทำเพื่อควบคุมโรคไม่ให้มีอาการ มากกว่ารักษาโรค ดังนั้นผู้ป่วยโรคนี้ ควรดูเลตัวเองให้ดีเพื่อรักษาอาการของโรค และลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคซ้ำอีกในอนาคต
วิธีดูแลตัวเองเพื่อบรรเทา และป้องกันโรคหนังศีรษะอักเสบ
- รักษาความสะอาดของหนังศีรษะ สระผมด้วยแชมพูสูตรอ่อนโยน และแชมพูขจัดรังแค
- ไม่สระผมด้วยน้ำเย็น หรือร้อนเกินไป
- ควบคุมสภาพจิตใจ พยายามไม่เครียด หาเวลาให้ตนเองพักผ่อน
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- ให้หนังศีรษะถูกแดดบ้าง จะทำให้เชื้อราลดลงได้
- หลีกเลี่ยงการใช้เคมีกับเส้นผมและหนังศีรษะ อย่างยาย้อมผม น้ำยายืดผม รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
- ลดหรือเลิกการสูบบุหรี่ และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ดูแลและบำรุงสุขภาพของหนังศีรษะและเส้นผมด้วยการรับประทานอาหารบำรุงผม
แต่ถ้าในกรณีที่มีบุคคลภายในครอบครัวหรือในบ้านเป็นหนังศีรษะอักเสบ เราต้องเข้าใจก่อนว่า โรคนี้ไม่ได้เป็นโรคติดต่อและเกิดจากเชื้อโรค ไม่สามารถติดจากคนสู่คนได้ แต่ทางที่ดี ควรจะช่วยกันรักษาความสะอาดและแยกของใช้ส่วนตัวที่มักใช้ร่วมกันอย่างหวีหรือสิ่งของที่จะต้องสัมผัสบริเวณที่อักเสบ เพราะการที่หนังศีรษะเป็นแผลก็ย่อมเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้
ข้อสรุป ‘วิธีรักษาหนังศีรษะอักเสบ’
หนังศีรษะอักเสบไม่ได้เป็นโรคร้ายแรง แต่อาการของโรคสามารถสร้างความรำคาญ ทำให้สูญเสียความมั่นใจ จนมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันในสังคมได้ อีกทั้งตัวโรคยังอาจจะเกิดจากโรคในอวัยวะอื่นๆ ที่ส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพได้หากไม่รีบรักษา
แม้ว่าจะรักษาจนหายแล้ว หนังศีรษะก็อาจจะกลับมาอักเสบได้ หากดูแลตัวเองไม่มากพอ ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคนี้ควรรักษากับคลินิกที่แพทย์เชี่ยวชาญสูง สามารถรักษา และดูแลได้ในระยะยาว หากกลับมาเป็นอีก
เป็นโรคหนังศีรษะอักเสบ กังวลเรื่องรังแค หรืออาการคัน สามารถสอบถามข้อสงสัยเพิ่มเติม หรือส่งรูปหนังศีรษะมาเพื่อปรึกษากับแพทย์เฉพาะทางจาก Absolute Hair Clinic ได้ที่ Line: @Absolutehairclinic
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก : Treatment of Seborrheic Dermatitis – Am Fam Physician.