หัวเหม็นไว ปัญหาที่ทำให้ใครหลายคนเสียความมั่นใจ ไม่กล้าเข้าใกล้ผู้อื่นเพราะกลัวว่าจะได้กลิ่นไม่พึงประสงค์ที่หนังศีรษะ อาการหัวเหม็นจากปัญหาที่หนังศีรษะสามารถรักษาได้ แต่อาการเหล่านี้เกิดจากอะไรได้บ้า’ แล้วต้องแก้ไขอย่างไร?
สาเหตุหลักของอาการหนังหัวเหม็นเกิดจากการสะสมของเหงื่อ รวมถึงเชื้อโรค และเชื้อแบคทีเรีย หากมีเหงื่อมาก จะสะสมจนทำให้หนังหัวอับชื้นและส่งกลิ่นจนหัวเหม็นอับจากการเพิ่มจำนวนของเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่แล้วบนหนังศีรษะ
หรือถ้าเชื้อโรคและเชื้อแบคทีเรียแค่เพียงชนิดเดียว เพิ่มขึ้นมากกว่าที่ควรจะเป็น ก็สามารถส่งผลให้หนังศรีษะเหม็นได้เช่นกัน
โดยในผู้ที่หนังหัวเหม็นง่าย มักมีจุดร่วมที่เป็นสาเหตุของการสะสมเหงื่อและเชื้อโรคต่างๆ ดังต่อไปนี้
การรักษาความสะอาดบนหนังศีรษะ
ผู้ที่หัวเหม็นไวบางรายบอกว่าสระผมทุกวัน แต่ผมยังเหม็นมาก บางครั้งอาจเกิดจากใช้แชมพูน้อยเกินไป แชมพูไม่มีประสิทธิภาพในการขจัดสิ่งสกปรกและความมัน หรือล้างหนังศีรษะไม่สะอาด หากเป็นเช่นนี้แม้จะสระผมแล้วผมก็ยังเกิดการสะสมของเหงื่อและเชื้อแบคทีเรีย จนทำให้หัวเหม็นได้อยู่ดี
นอกจากพฤติกรรมการสระผมที่ผิดวิธีแล้ว การรักษาความสะอาดอื่นๆยังทำให้ผมเหม็นได้ เช่น ไม่เป่าผมให้แห้งหลังสระผม ไม่สระผมหลังศีรษะถูกน้ำฝม หรือน้ำจากสระว่ายน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติ พฤติกรรมเหล่านี้จะทำให้เกิดการสะสมของเชื้อโรคและแบคทีเรียได้มาก จนทำให้หัวเหม็นอับได้ง่าย
เหงื่อมากกว่าปกติ
ผู้ที่มีเหงื่อออกมากกว่าปกติ จะทำให้หัวเหม็นได้ง่าย ผู้ชายจึงหัวเหม็นจากสาเหตุดังกล่าวได้ง่ายกว่าผู้หญิง
อาการเหงื่อออกมาก เป็นได้จากหลากหลายสาเหตุ ทั้งจากลักษณะที่กำหนดโดยพันธุกรรม, ปัญหาความผิดปกติของระบบประสาท, ระดับฮอร์โมนผิดปกติ, หรือโรคต่างๆที่ส่งผลกับต่อมเหงื่อ เมื่อเหงื่อออกมาก ก็จะทำให้แบคทีเรียเพิ่มขึ้นและผมเหม็นง่ายกว่าปกตินั่นเอง
หนังศีรษะมัน
หนังศีรษะมันเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้เชื้อโรคก่อตัวขึ้นมามากกว่าปกติ สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งลักษณะทางพันธุกรรม การเป็นโรคบางชนิด สระผมมากหรือน้อยจนเกินไป หรือระดับฮอร์โมนผิดปกติ
น้ำมันบนหนังศีรษะสร้างจากต่อมไขมันในรูขุมขน โดยปกติแล้วน้ำมันเหล่านี้มีหน้าที่ช่วยเคลือบบนผิวหนังชั้นนอกของหนังศีรษะและเส้นผม เพื่อกักเก็บความชุ่มชื้นที่หนังศีรษะ ป้องกันหนังศีรษะแห้ง ป้องกันผมเสีย และยังทำให้ผมเงางาม
แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่หนังศีรษะมันมากเกินไป จะทำให้เชื้อโรคบางชนิดเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเชื้อโรคเหล่านั้นกัดกินน้ำมันบนหนังศีรษะเป็นอาหาร เมื่อเชื้อโรคเพิ่มจำนวนขึ้นจะทำให้หนังหัวเหม็น มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ และจะยิ่งส่งกลิ่นเหม็นหากเชื้อโรคเหล่านั้นทำให้เกิดการติดเชื้อและอักเสบบนหนังศีรษะด้วย
ดังนั้นผู้ที่หนังศีรษะมันง่าย จะยิ่งทำให้หัวเหม็นได้ง่ายนั่นเอง
ปัญหารังแคหรือหนังศีรษะลอก
รังแคหรือหนังศีรษะลอกสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งหนังศีรษะแห้งเกินไป มันเกินไป เป็นโรคบางชนิด กระทั้งการแพ้สารบางอย่าง ก็ทำให้หนังศีรษะลอกจนหัวเหม็นได้เช่นกัน
เมื่อหนังศีรษะลอก เป็นรังแค จะทำให้รู้สึกระคายเคืองที่หนังศีรษะ บริเวณที่ระคายเคือง มีเซลล์ที่ตายแล้วผลัดออกมาทับถามกันเป็นรังแค บวกกับผิวหนังอ่อนแอ จะกลายเป็นแหล่งเพาะแบคทีเรียชั้นดีที่สามารถทำให้หัวเหม็นได้มากกว่าปกติ
ผลข้างเคียงจากโรคอื่น
ในผู้ที่หัวเหม็นง่ายบางคน สระผมถูกวิธีและสระผมบ่อย ทำให้ผมหอมแต่หนังหัวเหม็น สาเหตุที่หนังหัวยังเหม็นอยู่อาจเป็นเพราะโรคผิวหนังที่เกิดขึ้นที่หนังศีรษะก็ได้
โรคที่สามารถทำให้หัวเหม็นได้ มักจะเป็นโรคที่ทำให้เกิดการสะสมของเชื้อโรคและแบคทีเรีย เกิดการอักเสบติดเชื้อ หรือทำให้หนังศีรษะลอกได้มากกว่าปกติ ได้แก่ โรคหนังศีรษะอักเสบหรือเซ็บเดิร์ม, โรคสะเก็ดเงิน, และโรคเชื้อราบนหนังศีรษะ
โรคหนังศีรษะอักเสบ เกิดจากต่อมไขมันทำงานผิดปกติ ทำให้เกิดความมันบนหนังศีรษะมาก เชื้อราที่ชื่อว่าเชื้อรามาลาสซีเซีย (Malassezia) ซึ่งกินน้ำมันบนหนังศีรษะเป็นอาหาร จะเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วทำให้เกิดการอักเสบที่หนังศีรษะ เชื้อราและการอักเสบจะทำให้หัวเหม็นจากเชื้อราได้
- โรคสะเก็ดเงินบนหนังศีรษะ (Scalp Psoriasis)
โรคสะเก็ดเงินเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ จนทำให้หนังศีรษะสร้างและผลัดเซลล์ตายออกเร็วกว่าเดิม ในที่สุดเซลล์ตายเหล่านั้้นจะทับถมกันจนเป็นสะเก็ดหนา เกิดเป็นอาการของโรคสะเก็ดเงินในที่สุด
เมื่อเกิดสะเก็ดเงินขึ้น จะทำให้ระคายเคืองมาก ทั้งยังทำให้หนังศีรษะทับถมกันหนาจนเหงื่อและแบคทีเรียขยายตัวอยู่ใต้ผิวหนัง ทำให้หัวเหม็นง่ายกว่าปกติมากทีเดียว
โรคกลากเชื้อราบนหนังศีรษะเกิดจากการติดเชื้อราแปลกปลอมที่หนังศีรษะ เมื่อเป็นโรคนี้จะทำให้หัวเหม็น ผมร่วงเป็นหย่อม เกิดสะเก็ดที่หนังศีรษะ และอาจจะมีหนองหรือฝีร่วมด้วย ทำให้หัวเหม็นมากขึ้นกว่าเดิม
นอกจากนี้ โรคกลากเชื้อราอาจจะทำให้เกิดแผลเป็นขนาดใหญ่จนผมร่วง หัวล้านอย่างถาวรได้ ไม่สามารถรักษาได้ด้วยยาแก้ผมร่วงหากไม่รีบรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ จะต้องรักษาด้วยการปลูกผมถาวรเท่านั้น
สภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม
สภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมสามารถทำให้หัวเหม็นได้เช่นกัน ถ้าอยู่ในที่อากาศร้อนมากๆ ก็จะทำให้เหงื่อออกเยอะและหัวเหม็นได้ง่าย หากอยู่ในที่ที่มีฝุ่น ควัน มลภาวะมากกว่าปกติ ก็จะทำให้สิ่งสกปรกสะสมที่หนังศีรษะได้มากจนแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดีและส่งกลิ่นเหม็น
ในขณะเดียวกัน กลิ่นของสิ่งแวดล้อมก็มีผลต่อกลิ่นของเส้นผมและเป็นต้นเหตุของหัวเหม็นเช่นกัน อย่างเช่นเวลาที่ไปทานอาหารประเภทปิ้งย่าง มักมีกลิ่นควันติดอยู่ที่ผม เป็นเพราะเส้นผมทำมาจากเคราตินเส้นยาว ที่มีรูพรุนอยู่ทั่ว ทำให้เส้นผมดูดซับกลิ่นผ่านรูพรุนนั้นได้ดี ทำให้ผมเหม็นจากกลิ่นของสิ่งแวดล้อมนั่นเอง
ทานอาหารมีกลิ่นเป็นประจำ
อาหารบางอย่าง โดยเฉพาะอาหารที่มีกลิ่นจำพวกเครื่องเทศ จะทำให้เหงื่อมีกลิ่นได้ ปกติแล้วเหงื่อจะเป็นของเหลวที่ออกมาจากผิวหนังซึ่งไม่มีกลิ่น แต่เมื่อทานอาหารบางประเภท จะทำให้เหงื่อมีกลิ่นได้ และเมื่อเหงื่อออกที่ศีรษะจะทำให้หัวเหม็นได้เช่นกัน อาหารดังกล่าว เช่น กระเทียม เครื่องเทศ หรือเนื้อสัตว์ เป็นต้น
หลายคนเข้าใจว่า หากหัวเหม็นง่ายอาจมีอาการของโรคที่เรียกว่า “ภาวะผมเหม็นง่าย (Smelly Hair Syndrome หรือ SHS) ” ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ภาวะดังกล่าวไม่มีอยู่จริง และไม่เคยบัญญัติใช้กันในทางการแพทย์
หากผมเหม็นง่าย ก็มักจะมาจากหลายสาเหตุที่สามารถระบุได้ ซึ่งสาเหตุเหล่านี้จะทำให้เกิดเหงื่อและเชื้อโรคพร้อมทั้งแบคทีเรียจนเกิดกลิ่น หรือเกิดจากรูพรุนบนเส้นผมที่ทำให้ดูดกลิ่นได้ดี ไม่ใช่ภาวะความผิดปกติดังกล่าวที่เข้าใจผิดกัน
อาการหัวเหม็นบ่งบอกโรคใดได้บ้าง
อาการหัวเหม็นสามารถบ่งบอกว่าคุณกำลังมีความผิดปกติที่หนังศีรษะ บางครั้งอาจเป็นสัญญาณว่าคุณอาจเป็นโรคบางชนิด
- โรคกลากที่หนังศีรษะ (Ringworm) การมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ที่หนังศีรษะ หรือหัวเหม็นอาจเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุที่แตกต่างกันไป หากหนังศีรษะมีความชื้นมากเกินไป เชื้อราและแบคทีเรียอาจเจริญเติบโตจนกลายเป็นโรคกลากที่หนังศีรษะ
- โรคเซบเดิร์ม (Seborrheic) โรคนี้สามารถทำให้หนังศีรษะมีสะเก็ดเงินและอักเสบ ทำให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ร่วมด้วย เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่หัวเหม็น
โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) สะเก็ดเงินบนหนังศีรษะอาจเกิดขึ้นและมีแนวโน้มที่จะทำให้หนังศีรษะมีการอักเสบ และหากเชื้อแบคทีเรียเข้ามาเจริญเติบโตกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดกลิ่น
การรักษาความสะอาดเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะถ้าหนังศีรษะสะอาด แบคทีเรียและเชื้อโรคต่างๆจะลดจำนวนลงได้มาก ทำให้หัวเหม็นน้อยลง
การรักษาหัวเหม็นโดยการรักษาความสะอาด ต้องเริ่มจากสระผมให้ถูกวิธี การสระผมที่ถูกต้องนั้น ต้องสระผมไม่บ่อยเกินไปหรือน้อยเกินไป สระผมสัปดาห์ละ 3 – 4 ครั้งหรือวันเว้นวันกำลังดี เพราะหากสระผมน้อยไปจะทำให้สิ่งสกปรกสะสม เชื้อโรคและแบคทีเรียก่อตัวได้มาก
แต่ถ้าสระผมบ่อยเกินไปก็จะทำให้หนังศีรษะแห้งจนเกิดรังแค หรืออาจทำให้ความมันบนหนังศีรษะเสียสมดุล จนต่อมไขมันผลิตน้ำมันเป็นจำนวนมากเพื่อทดแทนน้ำมันที่ถูกล้างออกไป และส่งผลให้ผมมันกว่าปกติจนหัวเหม็นกว่าเดิม ทั้งยังเสี่ยงเป็นโรคผิวหนังบนหนังศีรษะด้วย
ขณะสระผมก็ต้องใช้น้ำอุณหภูมิปกติ ห้ามใช้น้ำร้อนหรือน้ำเย็นเกินไปเพื่อป้องกันหนังศีรษะแห้ง ต้องสระผมให้ถึงหนังศีรษะ ล้างความมันและสิ่งสกปรกออกไปให้หมด เมื่อสระผมเสร็จแล้วก็ต้องใช้ครีมนวดผมหรือทรีทเมนต์เพิ่มความชุ่มชื้น และต้องเป่าผมให้แห้งเพื่อป้องกันผมเหม็นอับและเชื้อรา
ใช้แชมพูลดความมัน ขจัดรังแค
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้หัวเหม็นได้มากคือความมันและรังแค ดังนั้นวิธีแก้หนังศีรษะเหม็นที่ได้ผลคือต้องควบคุมความมันและขจัดรังแค
แชมพูขจัดรังแคในท้องตลาดปัจจุบัน มักจะใช้เพื่อควบคุมความมัน และฆ่าเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียด้วย แชมพูเหล่านี้มักจะมีส่วนผสมของทาร์ (Tar), ตัวยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole), ซีลีเนียมซัลไฟด์ (Selenium Sulfide), หรือซิงค์ ไพริไทออน (Zinc Pyrithione) ซึ่งนอกจากจะฆ่าเชื้อราที่เป็นสาเหตุของรังแคเปียกได้แล้ว ยังสามารถควบคุมความมัน ต้นเหตุของรังแคและกลิ่นเหม็นได้ด้วย
แต่แชมพูขจัดรังแคกลุ่มนี้มักจะทำให้หนังศีรษะแห้งหากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ข้างขวดมักจะเขียนวิธีใช้ว่าให้ใช้แค่สัปดาห์ละ 2 – 3 ครั้ง เนื่องจากถ้าใช้มากเกินไปจะทำให้ศีรษะแห้งจนเกิดการระคายเคือง และเกิดรังแคแห้งได้
ดังนั้นเมื่ออาการดีขึ้นแล้วอาจจะต้องหยุดใช้ และหันไปใช้แชมพูสูตรที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นแทน เมื่อความมันและรังแคกลับมาอีก จึงกลับไปใช้แชมพูขจัดรังแคดังเดิม
ยาสระผมแก้หนังหัวเหม็น ที่เป็นยาสระผมมีกลิ่นหอมใช้ได้หรือไม่? ในกรณีที่ผมเหม็นจากปัญหาหนังศีรษะ ไม่ใช่เรื่องเหงื่อหรือเรื่องผมดูดกลิ่น แนะนำว่าใช้ยาสระผมขจัดรังแคดีกว่า
เพราะยาสระผมแก้หนังหัวเหม็นพวกนี้จะมีน้ำหอมอยู่จำนวนมาก ซึ่งบางครั้งสารให้ความหอมเหล่านี้อาจทำให้หนังศีรษะที่อ่อนแออยู่แล้วเกิดอาการแพ้ จนหัวเหม็นมากกว่าเดิมได้ อีกทั้งยังไม่สามารถแก้ไขอาการหัวเหม็นที่ต้นตอของปัญหา หากต้องการใช้แนะนำว่าให้ใช้หลังจากต้นเหตุของอาการหัวเหม็นหายไปแล้วจะดีกว่า
เพิ่มความชุ่มชื้นให้หนังศีรษะ
การแก้ปัญหาหัวเหม็นวิธีหนึ่ง คือการเพิ่มความชุ่มชื้นให้หนังศีรษะ หากศีรษะแห้ง จะทำให้เกิดรังแค หรือทำให้หนังศีรษะมันกว่าปกติจนเกิดเป็นหัวเหม็นจากความมันบนหนังศีรษะเสียสมดุลได้
อาจจะใช้วิธีการธรรมชาติอย่างการหมักผมด้วยน้ำมันธรรมชาติอย่างน้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันมะกอกก่อนการสระผม วิธีนี้จะทำให้หนังศีรษะชุ่มชื้นขึ้น ล้างสิ่งสกปรก สะเก็ดแผล หรือเศษหนังศีรษะที่ติดอยู่บนศีรษะออกไปได้ง่ายขึ้น
แต่ข้อควรระวังคือหลังหมักผม ต้องล้างน้ำมันเหล่านี้ออกไปให้สะอาดหมดจด เพราะหากน้ำมันเหล่านี้ค้างอยู่ที่หนังศีรษะมากเกินไป จะทำให้เกิดการสะสมของสิ่งสกปรกจนอุดตัน และทำให้เกิดรูขุมขนอักเสบหรือเป็นสิวที่หัวได้
อยู่ในที่เย็นและไม่มีกลิ่นไม่พึงประสงค์
วิธีแก้ปัญหาหัวเหม็นอีกวิธีหนึ่งคืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่จะไม่ทำให้หัวเหม็น นั่นคือการอยู่ในที่เย็นและที่ที่ไม่มีกลิ่นเหม็น เพื่อลดเหงื่อที่จะออกมาตามรูขุมขนเมื่ออากาศร้อน และลดการดูดซับกลิ่นของเส้นผม เพียงเท่านั้นก็สามารถทำให้อาการหัวเหม็นดีขึ้นได้แล้ว
งดทานอาหารที่ทำให้เกิดกลิ่นเหงื่อ
หากหัวเหม็นมากจากกลิ่นเหงื่อ อาจจะต้องแก้หัวเหม็นโดยการงดอาการบางอย่าง เช่น พวกเครื่องเทศต่างๆหรือกระเทียม หากงดแล้วกลิ่นไม่หายไป และไม่ทราบสาเหตุที่ทำให้หัวเหม็น อาจจะต้องปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านเส้นผมและหนังศีรษะเพื่อปรึกษา และรักษาอาการหัวเหม็นที่ต้นเหตุต่อไป
รู้หรือไม่? ผมสามารถแข็งแรงได้ด้วยการทานอาหารเหล่านี้ : อาหารบำรุงผม
ข้อสรุป
หัวเหม็นไม่ใช่อาการอันตราย หากแก้ที่ต้นเหตุได้ก็สามารถแก้ไขได้ วิธีที่ดีที่สุดคือการสังเกตตัวเอง เพื่อดูว่าสาเหตุของปัญหาหัวเหม็นคืออะไร หากรู้ต้นเหตุก็ให้แก้ไขที่ต้นเหตุ
แต่ถ้าไม่ทราบต้นเหตุอาจจะต้องลองปรึกษาแพทย์ดู เนื่องจากบางครั้งหัวเหม็นอาจจะเป็นอาการที่เกิดเกี่ยวเนื่องมากจากโรคต่างๆ ทั้งโรคผิวหนัง โรคเกี่ยวกับฮอร์โมน หรือโรคทางระบบประสาทต่างๆ ที่ต้องเข้ารับการรักษากับแพทย์ต่อไป
มีปัญหาหัวเหม็น ไม่ทราบสาเหตุ สามารถทักเข้ามาเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือนัดเวลาเพื่อพูดคุยกับแพทย์เฉพาะทางด้านเส้นผมและหนังศีรษะจาก Absolute Hair Clinic ได้ที่ Line: @Absolutehairclinic