ผมบางกรรมพันธุ์ผู้หญิง เป็นเรื่องใกล้ตัวที่เกิดขึ้นได้บ่อย หลายคนอาจจะคิดว่าผู้หญิงมีโอกาสผมบางน้อย หรือมีแค่ผู้ชายเท่านั้นที่จะผมบางจากกรรมพันธุ์จนศีรษะล้านเมื่ออายุมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงกว่า 40% ของคนที่ผมบางทั้งหมดเป็นผู้หญิง และสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้หญิงผมบาง คือโรคผมร่วงกรรมพันธุ์
ผมบางกรรมพันธุ์ผู้หญิงเกิดจากอะไร? อาการผมร่วงเป็นอย่างไร? และสามารถรักษาอย่างไรได้บ้าง? ผู้เชี่ยวชาญจาก Absolute Hair Clinic จะมาตอบคำถามเหล่านี้ให้กับคุณ
‘กรรมพันธุ์’ อีกหนึ่งสาเหตุผมร่วง ผมบางในเพศหญิง
โรคผมบางกรรมพันธุ์ในผู้หญิง (Androgenetic Alopecia) เป็นโรคในผู้หญิงที่เกิดจากยีน (Gene) ศีรษะล้าน ซึ่งปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่ายีนดังกล่าวเป็นยีนตัวใด อยู่ในโครโมโซม (Chromosome) คู่ไหน และทำไมจึงส่งผลให้ศีรษะล้าน
การรักษาโรคนี้ที่สาเหตุ หรือรักษาให้หายขาดนั้นเป็นไปไม่ได้เลย เพราะนอกจากจะไม่รู้ว่ายีนตัวใดทำให้ผมบางแล้ว การรักษาโดยการเปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรมก็เป็นเรื่องที่ยังทำไม่ได้ในปัจจุบัน การรักษาผมร่วงในผู้หญิงจึงทำได้เพียงรักษาตามอาการ และลดปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ทำให้ผมร่วง ผมบางเท่านั้น
โรคผมบางจากกรรมพันธุ์ คืออะไร
โรคผมบางพันธุกรรม คือ โรคผมบางที่เกิดจากยีน ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นผ่านทางพันธุกรรม สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย แต่จะมีสาเหตุที่ทำให้ผมบาง และลักษณะผมบางที่แตกต่างกัน
แม้แพทย์จะยังไม่ทราบว่าผมร่วงพันธุกรรมในผู้หญิงคือยีนตัวใด แต่ในผู้ชายแพทย์ทราบแล้วว่าพันธุกรรมที่ทำให้ผมบางนั้น อยู่ในโครโมโซมเอ็กซ์ (Chromosome X) ที่เป็นโครโมโซมเพศ
หลายคนอาจจะเข้าใจว่ายีนนี้จะได้มาจากผู้หญิงในครอบครัวเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว โครโมนโซมดังกล่าวมีอยู่ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย ทำให้ยีนผมบางกรรมพันธุ์มาจากบรรพบุรุษที่เป็นผู้ชายได้เช่นกัน
สาเหตุอื่นของผมร่วง ผมบางในเพศหญิง
- ฮอร์โมน
ระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงมีผลอย่างมากกับอาการผมร่วง เนื่องจากฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน (Estrogen) เป็นฮอร์โมนที่ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของเส้นผม และทำให้ผมอยู่ในระยะเจริญได้นานขึ้น
ระยะเจริญคืออะไร? ปกติแล้วเส้นผมจะมีวัฏจักรของตัวเอง โดยจะเริ่มจากระยะเจริญ ในระยะนี้รากผมจะสร้างผม ทำให้ผมงอกยาวขึ้น โดยผมจะอยู่ในระยะนี้ประมาณ 2 – 6 ปี หลังจากนั้น ผมจะเข้าสู่ระยะหยุดเจริญประมาณ 2 สัปดาห์ ก่อนที่ผมจะเข้าสู่ระยะพัก เพื่อให้รากผมฟื้นฟูตัวเอง พร้อมที่จะงอกผมชุดถัดไป
เมื่อหมดระยะพักแล้ว เส้นผมจะเข้าสู่ระยะเจริญอีกครั้ง เมื่อรากผมกลับมาสร้างผมอีก ผมชุดเก่าที่อยู่ยังอยู่ในรูขุมขน จะค่อยๆถูกเส้นผมชุดใหม่ดันออกมาจากรูขุมขน และหลุดร่วงไปตามวัฏจักร โดยผมจะร่วงวันหนึ่งประมาณ 100 เส้นเป็นปกติ
เมื่อเอสโตรเจนทำให้ระยะพักนานขึ้น นั่นหมายความว่าผมแต่ละเส้นจะอยู่บนศีรษะได้นานขึ้น และมีโอกาสงอกได้ยาวขึ้นกว่าเดิมนั่นเอง ดังนั้นหากฮอร์โมนเอสโตรเจนมีระดับเปลี่ยนไป ทั้งน้อยลงและมากขึ้น ก็สามารถทำให้ผมร่วงได้
หากอยู่ในภาวะที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไป เช่น ต่อมผลิตฮอร์โมนต่างๆทำงานผิดปกติ หรือช่วงหลังคลอด เมื่อฮอร์โมนลดลงมาอยู่ในระดับปกติแล้ว จะทำให้ผมที่ควรจะร่วงตั้งแต่ช่วงก่อน กลับมาร่วงในช่วงนี้
ผมบางส่วนที่ควรจะร่วงไปแล้ว จะถูกยื้อไว้ด้วยผลของฮอร์โมนเอสโตรเจน เมื่อฮอร์โมนกลับมามีปริมาณเท่าเดิม ผมที่ถูกยื้อไว้จะร่วงออกมา ทำให้ผมในช่วงหลังคลอด หรือหลังฮอร์โมนเปลี่ยน จะร่วงมากกว่าปกติ หรือที่เรียกว่าภาวะผมร่วงหลังคลอด และผมขึ้นใหม่ก็อาจจะเส้นบางลงกว่าเดิมได้
แต่ถ้าหากฮอร์โมนเอสโตรเจนน้อยเกินไป เช่น ในช่วงหลังหมดประจำเดือน หรือผ่าตัดรังไข่ ผมก็จะเส้นเล็กลง ขาดร่วงได้มากขึ้น ระยะพักสั้นกว่าปกติ อีกทั้งการที่สมดุลฮอร์โมนเปลี่ยนอาจจะทำให้ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนมากขึ้น ส่งผลให้ฮอร์โมนก่อผมร่วงอย่างฮอร์โมน DHT มากขึ้นตามไปด้วย และเมื่อ DHT มากขึ้น ผมของผู้หญิงก็สามารถร่วงจากฮอร์โมน DHT ได้เหมือนกับผู้ชายเช่นกัน
อ่านเพิ่มเติม : ฮอร์โมนไดไฮโดรเทสโทสเตอโรน (Dihydrotestosterone) หรือ DHT ทำให้ผมร่วงได้อย่างไร?
- อายุและช่วงวัย
อายุสาเหตุหนึ่งของผมร่วงผู้หญิง เพราะนอกจากจะทำให้ฮอร์โมนเพศลดลง และสมดุลฮอร์โมนเปลี่ยนแล้ว เส้นผมยังอ่อนแอลงตามอายุอีกด้วย
ในชีวิตหนึ่ง คนเราสามารถมีผมได้มากถึง 20 ชุด นั่นแปลว่า ถ้าคุณดูแลผมเป็นอย่างดี และไม่ได้เป็นโรคอะไรที่ทำให้ผมร่วงเยอะกว่าปกติ คุณจะสามารถมีผมไปได้ตลอดชีวิต
แต่ผมทุกชุดไม่ได้เหมือนกัน ผมของเราจะอ่อนแอลงเรื่อยๆ ชุดหลังจะอ่อนแอกว่าชุดแรกโดยผมในชุดหลังๆจะบาง เปราะ ขาด ร่วงได้ง่าย ระยะพักมากขึ้น ระยะเจริญน้อยลง ดังนั้นเมื่ออายุมากขึ้น ผมจะยิ่งร่วง และบางลงนั่นเอง
- ความเครียด
ความเครียดมีผลต่อทั้งสภาวะจิตใจ และการทำงานต่างๆของร่างกาย ความเครียดอาจเป็นต้นเหตุให้ระบบร่างกายทำงานได้แย่ลงหรือเสียสมดุล และฮอร์โมนเองก็ระบบหนึ่งสามารถเสียสมดุลได้จากความเครียดเช่นกัน เมื่อร่างกายเสียสมดุล ทำงานผิดปกติ ก็เป็นสาเหตุให้ผมร่วง ผมบางได้
- สารเคมี
ส่วนมาก หนังศีรษะของเราจะรับสารเคมีจากผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเส้นผม และหนังศีรษะเป็นส่วนใหญ่ สารที่ใส่อยู่ในผลิตภัณฑ์เหล่านี้ บางอย่างอาจจะแรงเกินไป หรือผู้ใช้อาจจะแพ้โดยไม่รู้ตัว
สารเคมีที่แรงเกินไปจะทำลายเคลือบผม ทำให้ผมแห้ง ขาดร่วงง่าย สารเคมีบางอย่างทำให้หนังศีรษะแห้ง จนเกิดรังแคและทำให้คัน เมื่อเกามากๆเข้าก็อาจจะทำให้หนังศีรษะอักเสบจนผมร่วงได้
หากเราแพ้สารเคมีในผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเส้นผม จะทำให้หนังศีรษะอักเสบ เมื่อเกิดการอักเสบขึ้น เชื้อจากการอักเสบอาจจะไปกินสเต็มเซลล์ที่รากผม จนรากผมสร้างผมไม่ได้อีกและฝ่อไป นอกจากจะทำให้ผมร่วงแล้ว ยังทำให้ผมขึ้นใหม่ไม่ได้อีกเลย
ดังนั้นหากรู้ตัวว่าตัวเองแพ้สารอะไรก็ควรหลีกเลี่ยง หรือหากใช้ไปแล้วเกิดอาการแพ้ ให้รีบมาพบแพทย์ทันที
- การขาดสารอาหาร
สารอาหารหลายอย่างมีผลต่อการสร้างเส้นผม สารอาหารบางตัวก็เป็นปัจจัยสำคัญให้รากผมนำมาสร้างเป็นเส้นผม เช่น โปรตีน สารอาหารบางตัวก็ทำให้ผมแข็งแรงขึ้น หากไม่มีสารอาหารดังกล่าว ผมจะขาดร่วงได้ง่าย เช่น ไบโอติน
สารอาหารจึงมีความสำคัญมากในการสร้างผม หากสารอาหารไม่ครบถ้วน รากผมจะเข้าสู่ระยะพักเนื่องจากไม่มีวัตถุดิบเพียงพอที่จะสร้างผม ส่งผลให้ผมร่วงและบางลง ดังนั้นการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หรืออาหารบำรุงผมก็ถือเป็นสิ่งที่สามารถช่วยลดปัญหาเหล่านี้ได้
- ยาบางชนิด
ยาบางอย่างมีผลข้างเคียงของยาทำให้ผมร่วง เช่น ยาต้านมะเร็ง ยาเคมีบำบัด ที่รู้จักในชื่อของคีโม, ยารักษาสิว, ยาลดการแข็งตัวของเลือด, ยาต้านซึมเศร้า, ยาที่มีผลกับฮอร์โมน เป็นต้น
- โรคต่างๆ
มีโรคที่ทำให้ผมร่วงได้มากมาย เช่น โรคผมร่วงทั่วศีรษะ (Telogen Effluvium), โรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia Areata), และโรคเชื้อราบนหนังศีรษะ (Tinea Capitis) เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีโรคอื่นๆ ที่ทำให้ผมร่วงได้อีกในทางอ้อม โดยอาจจะส่งผลกับภูมิคุ้มกัน ทำให้หนังศีรษะอักเสบ หรืออาจจะทำให้ระดับฮอร์โมนเปลี่ยน เช่น โรคภูมิแพ้รากผม, โรคแพ้ภูมิตัวเอง, โรคเกี่ยวกับไทรอยด์, โรคมะเร็ง เป็นต้น
โรคทางจิตเวชก็อาจจะทำให้ผู้ป่วยดึงผมตัวเอง จนทำให้หนังศีรษะโดยทำร้าย และผมร่วงผมบางได้ เช่น โรคดึงผม (Trichotillomania), โรคซึมเศร้า (major depressive disorder), โรควิตกกังวลประเภทย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder) เป็นต้น
- เป็นโรคที่มีไข้สูง
โรคที่มีไข้สูงเป็นเวลานาน เป็นสาเหตุของผมร่วงผู้หญิงได้เช่นกัน เนื่องจากการเป็นไข้สูง ทำให้ผมส่วนใหญ่ที่อยู่ในระยะเจริญเข้าสู่ระยะหยุดเจริญ เมื่อผมพ้นระยะพักและงอกอีกครั้ง ผมส่วนใหญ่ของศีรษะจะร่วงออกมา มักเกิดหลังหายจากโรคประมาณ 3 เดือน
นอกจากนี้ โรคที่ทำให้ตัวร้อนบางโรค เกิดจากการอักเสบของอวัยวะต่างๆ การอักเสบอาจจะกระจายไปทั่วร่างกายจนไปที่รากผม และทำให้ผมร่วงได้เช่นกัน อาการเช่นนี้จะสามารถพบได้ในผู้ป่วยโควิด (SARS-CoV-2) หลังจากหายดีแล้ว
- ผมร่วงหลังผ่าตัด
หลังผ่าตัดอาจเกิดอาการเครียด ตกใจ หรือเกิดผลข้างเคียงจากยาสลบ ทำให้ผมร่วงได้หลังการผ่าตัด อาการผมร่วงแบบนี้เรียกว่า ‘อาการ Shock Loss’
หลังผ่าตัดปลูกผมผู้หญิงก็สามารถเกิดอาการ Shock Loss นี้ได้เช่นกัน จากเหตุผลที่กล่าวมา หรืออาจจะเกิดจากหนังศีรษะช้ำหลังปลูกผม แต่ผมที่ร่วงไปเป็นเพียงเส้นผมเท่านั้น รากผมไม่ได้เสียหายอะไร เมื่อพ้น 3 – 4 เดือนไปผมก็จะกลับมางอกตามปกติ
- โลหิตจาง
โลหิตจางจากสาเหตุต่างๆ อย่างการเสียเลือดมากจากประจำเดือน หรือขาดธาตุเหล็ก เป็นสาเหตุของผมร่วงในผู้หญิงได้เช่นกัน เพราะจะทำให้เลือดนำสารอาหารไปเลี้ยงรากผมไม่เพียงพอ ทำให้ผมไม่แข็งแรงอย่างที่ควรเป็น
- รังแค
รังแคเป็นสาเหตุของผมร่วงได้ในทางอ้อม เพราะรังแคทำให้เกิดอาการคัน หรือหนังศีรษะอักเสบ เมื่อเกา หรือหนังศีรษะอักเสบจนรากผมเสียหาย ผมก็จะร่วงและบางลงนั่นเอง
จะเห็นว่าสาเหตุของผมร่วงผู้หญิงมีมากมาย แต่ละสาเหตุก็มีวิธีรักษาที่ต่างกัน ดังนั้นหากผมร่วงมากกว่าปกติ ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่สามารถบอกได้ว่าสาเหตุของอาการผมร่วงคืออะไร เพื่อรักษาปัญหาผมได้อย่างตรงจุด
อาการของผมร่วง ผมบางกรรมพันธุ์ผู้หญิง
อาการผมร่วงกรรมพันธุ์ ผู้หญิง จะเริ่มแสดงอาการเมื่อผู้หญิงมีอายุประมาณ 15 – 40 ปี มีรูปแบบเฉพาะที่พบได้บ่อย คือผมจะเริ่มบางที่กลางศีรษะ และขยายออกไปเป็นวงกลม หากเป็นมากๆอาจจะศีรษะล้านได้
ซึ่งการที่พบอาการแบบเดียวกันบ่อยจนมีแบบแผนนั้น แพทย์จะเรียกรูปแบบอาการผมบางกรรมพันธุ์ผู้หญิงว่า “Female Hair Loss Pattern” ซึ่งจะมี 3 แบบ แบ่งตามระยะอาการผมบาง ดังนี้
ผมบางเล็กน้อย
แพทย์จะเรียกว่า “Type I” มีลักษณะบางที่กลางศีรษะ เริ่มเห็นหนังศีรษะเล็กน้อย เป็นระยะแรกเริ่มของผู้หญิงผมบางกรรมพันธุ์
ผมบางปานกลาง
เรียกว่า “Type II” ผมจะบางลงมากกว่าเดิม พื้นที่ที่เห็นหนังศีรษะจะมาขึ้นกว่า Type I
ผมบางมาก
เรียกว่า “Type III” ผมบางมากกว่า Type II เห็นหนังศีรษะเป็นบริเวณกว้าง
นอกจากนี้ยังมี Type ที่พบไม่บ่อยอีก อย่าง Advance คือศีรษะล้านที่กลางศีรษะ จะเห็นหนังศีรษะเป็นบริเวณกว้างมากกว่า Type III และแบบที่พบได้ไม่บ่อยอีกอย่างคือ Frontal คือศีรษะล้านเถิกขึ้นจากด้านหน้า
Frontal จะพบได้น้อยมากในผู้หญิง ผู้หญิงที่ศีรษะเถิกก็มักจะเป็นมาตั้งแต่กำเนิด ไม่ได้เกิดจากโรคผมบางพันธุกรรม Frontal จึงมักไม่พบในผู้หญิง แต่จะพบได้มากในผู้ชาย
โรคผมร่วง ผมบางกรรมพันธุ์ผู้หญิง Vs ผู้ชาย
ผมบางกรรมพันธุ์ผู้หญิงกับผู้ชาย ต่างกันตั้งแต่สาเหตุที่ทำให้ผมบาง ลักษณะของผมที่บางลง และวิธีการรักษา
สาเหตุของโรคผมบางพันธุกรรมในผู้หญิง ปัจจุบันยังไม่ทราบว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร รู้เพียงว่าผู้หญิงเองก็มีโรคผมบางพันธุกรรมเหมือนกันกับผู้ชาย แต่คาดว่าน่าจะเกิดจากยีนคนละตัวกันเนื่องจากผมร่วงกรรมพันธุ์ผู้ชาย เกิดจากยีนที่ทำให้ผมตอบสนองกับฮอร์โมนก่อผมร่วงมากขึ้น ในผู้หญิงไม่ค่อยพบฮอร์โมนก่อผมร่วงดังกล่าว แพทย์จึงคาดว่ายีนตัวเดียวกันนี้ ไม่ได้ก่อผมร่วงในผู้หญิง
ฮอร์โมนก่อผมร่วงดังกล่าวเรียกว่าฮอร์โมน DHT ฮอร์โมนตัวนี้สร้างจากฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ในผู้ชายมีฮอร์โมนเพศชายอย่างเทสโทสเตอโรนมากกกว่าผู้หญิงทำให้มีปริมาณ DHT มากกว่า
ส่วนในผู้หญิง นอกจากจะมีเทสโทสเตอโรนน้อยแล้ว ยังมีเอนไซม์ที่ชื่อว่า Cytochrome P450 Aromatase เอนไซม์ดังกล่าวจะเปลี่ยนเทสโทสเตอโรนให้เป็นฮอร์โมน Estrodiole ซึ่งจะออกฤทธิ์ต้านการทำงานของ DHT อีกทีหนึ่ง ดังนั้นในผู้หญิง นอกจากจะมี DHT น้อยแล้ว DHT ที่มีก็ยังออกฤทธิ์ได้น้อยด้วย ทั้งนี้ ในผู้หญิงก็สามารถผมร่วงจากฮอร์โมน DHT ได้ถ้าระดับฮอร์โมนไม่สมดุล
ในเรื่องของลักษณะอาการผมบางกรรมพันธุ์ ผู้หญิงจะบางแค่ที่กลางศีรษะ และขยายออกไปเรื่อยๆ ส่วนผู้ชายจะเริ่มบางทั้งที่กลางศีรษะและศีรษะส่วนหน้า ทำให้ศีรษะเถิกขึ้นไปเรื่อยๆ จนไปบรรจบกับกลางศีรษะที่ขยายวงกว้างออกมา และทำให้ศีรษะล้านในที่สุด เหลือไว้เพียงผมในส่วนหลังกกหูกับส่วนท้ายทอย ที่เป็นผมถาวร รากผมไม่มีผลกับฮอร์โมน DHT
หัวล้านกรรมพันธุ์ สามารถเกิดได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับหัวล้านกรรมพันธุ์ : หัวล้านกรรมพันธุ์
การรักษาผมร่วง ผู้หญิงจะเน้นไปที่การฟื้นฟูรากผมให้ผมกลับมาหนาอีกครั้ง เนื่องจากผู้หญิงไม่มีผมถาวรบริเวณท้ายทอยเหมือนกับผู้ชาย การผ่าตัดปลูกผมจึงอาจจะได้ผลน้อยกว่าผู้ชาย และไม่ใช่ผมที่สามารถอยู่ได้ถาวร
ส่วนในผู้ชาย หากผมบางแต่ยังเหลือรากผมอยู่ ก็จะเน้นไปที่การฟื้นฟูรากผม หรือการใช้ยาแก้ผมร่วงเพื่อลดระดับฮอร์โมน DHT ลง หากศีรษะเถิก หรือผมบางมากเกินไป และไม่เหลือรากผมแล้ว แพทย์จะแนะนำให้รักษาด้วยการปลูกผมถาวร
เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์
สาเหตุของผมร่วงในผู้หญิงมีอยู่มาก ในบางคนอาจจะเกิดจากโรคที่ไม่รู้ตัวว่าเป็น ดังนั้นเมื่อเริ่มผมร่วงมากกว่าปกติ ผมร่วงเป็นกระจุก ผมหายเป็นหย่อม ควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว เพราะอาการผมร่วง ผมบาง ศีรษะล้านในผู้หญิงรักษายากกว่าในผู้ชาย
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าผมร่วงมากกว่าปกติ? ให้ลองสังเกตุดูว่าผมร่วงวันละประมาณกี่เส้น ดูในที่ๆเราใช้ชีวิตอยู่ เช่นตามพื้นห้อง โต๊ะทำงาน หรือบนหมอน ถ้านับได้มากกว่า 100 เส้นต่อวันก็ควรพบแพทย์ หรือถ้านับไม่ไหว ให้ลองหวีผม 1 นาทีแล้วนับดูว่ามีผมที่หวีกี่เส้น ถ้าเกิน 20 เส้นก็จะถือว่าเยอะกว่าปกติ
อ่านเพิ่มเติม : วิธีเช็คว่าผมร่วงมากกว่าปกติหรือไม่ ด้วยการหวีผม 1 นาที
การวินิจฉัยโรคผมร่วง ผมบางกรรมพันธุ์ผู้หญิง
เนื่องจากทางการแพทย์ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าผมบางกรรมพันธุ์ในผู้หญิงเกิดจากอะไร และบางครั้งโรคนี้ก็อาจจะเกิดได้กับผู้ที่ในครอบครัวใครเคยมีประวัติว่าเป็นโรคนี้มาก่อน แพทย์จึงวินิจฉัยโรคนี้ด้วยการดูลักษณะผมบางเป็นหลัก ว่าเข้าลักษณะอาการ Female Hair Loss Pattern หรือไม่
แพทย์จะวินิจฉัยร่วมกับการตรวจดูสภาพเส้นผมและหนังศีรษะไปด้วย Dermoscope ว่าอยู่ในสภาพปกติหรือไม่ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้เกิดจากโรคอื่นๆ หากผมเปราะขาดง่าย ผมร่วงเป็นหย่อม มีรอยแดงที่หนังศีรษะ มีกลาก อาการบวม หรือมีเลือด ก็จะไม่ใช่อาการของโรคผมบางกรรมพันธุ์ แพทย์จะตรวจเพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัยหาเหตุอื่นต่อไป
โรคทางเส้นผมและหนังศีรษะ ควรรักษากับแพทย์ที่เชี่ยวชาญจริง รู้จักกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พร้อมทั้งผลงานของแพทย์แต่ละท่านจาก Absolute Hair Clinic :
วิธีรักษาผมร่วง ผมบางกรรมพันธุ์ผู้หญิง
การรักษาผมร่วง ผู้หญิงจะเน้นไปที่การฟื้นฟูรากผม และการกระตุ้นให้รากผมกลับมาทำงานได้ตามปกติโดยวิธีการรักษาดังกล่าวมีดังนี้
1. ใช้ยาแก้ผมร่วง
ยาแก้ผมร่วงที่ใช้ได้ในผู้หญิงคือยาไมนอกซิดิวล์ (Minoxidil) ยาตัวนี้จะไปขยายหลอดเลือดที่ใต้หนังศีรษะ เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงที่รากผมได้ดีขึ้น ทั้งยังช่วยกระตุ้นให้รากผมกลับมาทำงานได้ด้วย
ไมนอกซิดิวล์มีทั้งแบบเม็ดใช้ทาน และแบบโลชั่นใช้ทา มีข้อดีข้อเสีย และผลข้างเคียงต่างกัน แบบเม็ดอาจจะทำให้ใบหน้า แขน และขาบวม เวียนศีรษะ หรือหัวใจเต้นเร็ว ส่วนแบบทาอาจจะทำให้เกิดการระคายเคือง หรือหนังศีรษะแห้งได้
อ่านเพิ่มเติม : ยาแก้ผมร่วงมีกี่ชนิด? แต่ละชนิดต่างกันอย่างไร?
2. การฟื้นฟูรากผม
- ฉีด PRP ผม ฟื้นฟูรากผม ซ่อมแซมรากผมที่เสียหายกระตุ้นการสร้างเส้นเลือดฝอยที่หนังศีรษะ
- ฉีดสเต็มเซลล์ผม ฟื้นฟูรากผม กระตุ้นการสร้างเส้นเลือดฝอยที่หนังศีรษะ
- เลเซอร์ LLLT กระตุ้นรากผมให้กลับมาทำงาน
- Fotona Laser กระตุ้นรากผม และการสร้างเส้นเลือดฝอยที่ศีรษะ
ส่วนการปลูกผมเพื่อรักษาผมบางกรรมพันธุ์ แพทย์ไม่ค่อยแนะนำให้ทำในเคสที่ไม่ได้เป็นหนัก เนื่องจากในผู้หญิงไม่มีผมถาวรเหมือนผู้ชาย
หากผมที่กลางศีรษะบางจากสาเหตุพันธุกรรม ผมท้ายทอยก็จะบางด้วยเช่นกัน ดังนั้นแม้จะปลูกผมไปก็ไม่ได้ผลถาวรเท่าปลูกผมผู้ชาย ถ้าไม่ได้ฟื้นฟูรากผม หรือใช้ยาแก้ผมร่วงไปด้วยไปด้วย หลังปลูกผมถาวรผมก็ร่วงได้อยู่ดี
นอกจากนี้ ในเคสที่ไม่รุนแรง การปลูกผมจะทำให้รากผมในบริเวณใกล้เคียงช้ำมากกว่าเดิม ทำให้ผมบางลงได้มากกว่าเดิม ดังนั้นถ้าไม่ได้รุนแรงจริงๆ แพทย์จะไม่แนะนำให้ทำ การปลูกผมในผู้หญิงที่นิยมทำกัน จึงเป็นการปลูกผมที่หน้าผากเพื่อปรับแนวผมในกรณีที่ศีรษะเถิกโดยกำเนิด ไม่ค่อยนำมาใช้เพื่อรักษาผมร่วงกรรมพันธุ์ในผู้หญิงมากนัก
ในกรณีที่ต้องปลูกจริงๆ มีวิธีปลูกผม 3 วิธี ดังนี้
- ปลูกผม FUT – เป็นการปลูกผมที่นำรากผมออกมาปลูก โดยการนำรากผมออกมาพร้อมหนังศีรษะชั้นนอกบางส่วน แล้วจึงตัดแบ่งเป็นกอผมใต้กล้องจุลทรรศน์
- ปลูกผม FUE – นำรากผมออกมาปลูก โดยใช้เครื่องเจาะ เจาะเฉพาะกอรากผมออกมา
- ปลูกผม Longhair FUE – วิธีการนำรากผมออกมา เหมือนกับ FUE เลย เพียงแค่ผมที่นำมาปลูก เป็นผมยาว ไม่ต้องตัดให้สั้นก่อนปลูกผม เป็นวิธีที่ผู้หญิงนิยมทำกันมากเนื่องจากไม่ต้อรอ ผมยาวทันทีหลังทำ
ปลูกผมแบบไหนดีกว่ากัน? : ข้อแตกต่าง FUE Vs FUT
ข้อสรุป ‘โรคผมร่วง ผมบางกรรมพันธุ์ผู้หญิง’
โรคผมร่วง ผมบางกรรมพันธุ์ในผู้หญิง แม้จะไม่สามารถรักษาที่สาเหตุ แต่สามารถทำให้ผมร่วงน้อยลง กระตุ้นให้ผมบางกลับมาดก และเส้นใหญ่มากขึ้นได้จากการใช้ยา และการพื้นฟูผมด้วยวิธีอื่นๆได้
ทั้งนี้หากผมร่วงแล้วไม่พบแพทย์ ปล่อยไว้จนอาการรุนแรงหรือศีรษะล้าน ก็ยากที่จะรักษา อาจจะไม่สามารถทำให้เส้นผมจริงกลับคืนมาได้อีกเลย ดังนั้นเมื่อรู้ตัวว่าผมร่วงมากกว่าปกติ ให้รีบมาพบแพทย์ทันที ยิ่งมาพบแพทย์เร็ว ยิ่งมีโอกาสรักษาให้ดีขึ้นได้มาก หากมาช้าเกินไป อาการอาจจะแย่ลงจนศีรษะล้านได้
กำลังสงสัยว่าตนเองเป็นโรคผมบางกรรมพันธุ์ในผู้หญิง สามารถส่งรูปศีรษะมาสอบถาม ปรึกษาอาการผมร่วงในเบื้องต้น หรือนัดหมายเพื่อเข้าพบแพทย์เฉพาะทางจาก Absolute Hair Clinic ได้ที่ Line: @Absolutehairclinic